รองผู้ว่าฯ เผย โรงงานตอบรับแผนปฏิบัติการ Bubble & Seal 28 วัน ได้ผลเหนือความคาดหมาย

รองผู้ว่าฯ เผย โรงงานตอบรับแผนปฏิบัติการ Bubble & Seal 28 วัน ได้ผลเหนือความคาดหมาย

รองผู้ว่าฯ เผย โรงงานตอบรับแผนปฏิบัติการ Bubble & Seal 28 วัน ได้ผลเหนือความคาดหมาย

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ที่มีการควบคุมการเดินทางไปกลับระหว่างบริษัท กับ ที่พักของพนักงานโรงงานเป้าหมาย ตามมาตรการ Bubble & Seal ที่บริษัทพัทยาฟู้ดอินดัสตรี จำกัด และ บริษัทยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยทั้ง 2 บริษัทฯ นั้น จะใช้วิธีการ Bubble มีหลักการควบคุมการเดินทางของพนักงานฯ ในลักษณะที่คล้ายกันคือ ถ้าเป็นแรงงานที่พักอาศัยอยู่ตามหอพักใกล้ๆ กับบริษัท ก็จะใช้รูปแบบการเดินเท้า โดยมีผู้ถือป้ายบอกสถานที่ และถือธงนำไปกลับระหว่างห้องพัก กับ บริษัท ส่วนผู้ที่เดินตามก็จะเดินเป็นแถวตามๆ กันมา ไม่มีการแวะพักระหว่างทาง แต่ถ้าเป็นแรงงานที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากบริษัทฯ ต้องอาศัยรถรับส่งคนงาน ก็จะขึ้นรถตามสายนั้นๆ แต่ก่อนขึ้นรถจะต้องผ่านการฉีดพ่นสเปรย์ล้างมือ และตรวจสอบชื่อแรงงานที่ขึ้นรถแต่ละคันด้วย อีกทั้งยังต้องมีการเว้นระยะห่างในการนั่งด้วย

สำหรับการ Bubble นี้ จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่แรงงานพักอาศัยอยู่ภายนอก เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงาน กับ ที่พักอาศัย จะแวะกลางทางตรงจุดไหนไม่ได้ และเมื่อถึงที่พักแล้วก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหะสถานเท่านั้น ซึ่งกระบวนการ Bubble นี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคได้ผลจริง ขณะที่มาตรการ Seal จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่มีที่พักอาศัยให้กับแรงงานอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน ส่วนการดูแลแรงงานของสถานประกอบการที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal ทางนายจ้างก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาเรื่องอาหาร และความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวันในช่วง 28 วัน หรือสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ให้แก่พนักงาน หรือ ในสถานประกอบการบางแห่งก็จัดให้มีตลาดนัดขายของภายในโรงงานกันเลยทีเดียว โดยพ่อค้าแม่ค้าที่จะเข้ามาขายของในโรงงานได้นั้น ก็ต้องเป็นไปภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เช่นเดียวกันคือ จะต้องได้รับอนุญาตจากทางโรงงาน ต้องมีบัตรแสดงตนเป็นผู้ขายสินค้าภายในโรงงาน และที่สำคัญคือ ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หลังจากที่เราเริ่มปฏิบัติการ Bubble & Seal มาได้ระยะหนึ่งตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องของ Bubble & Seal ทุกโรงงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างที่เราเห็นก็จะมีการจัดระเบียบของการเดินทาง การใช้รถสองแถว รถบัส รวมถึงการเดินเท้าสำหรับแรงงานที่มีห้องพักอยู่ใกล้ๆ อันนี้ถือว่าเป็นการจัดระเบียบที่ “เหนือความคาดหมาย” สำหรับจังหวัดสมุทรสาครขณะนี้มีสถานประกอบการที่จัดระเบียบตามมาตรการ Bubble & Seal รวม 9 โรงงาน โดยเป็นโรงงานที่ใช้มาตรการ Bubble อยู่ 7 แห่ง และ มาตรการ Seal อีก 2 แห่ง แต่นอกจากนี้ก็ยังมีสถานประกอบการหลายแห่งที่เขาดำเนินการกันเองด้วยระบบเดียวกัน ซึ่งหลังจากทำมาในระยะหนึ่งเราก็มีการติดตามและรายงานผลไปยัง ศบค.มหาดไทย และ ศบก.ศบค. เพื่อที่จะรับทราบว่า ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง มีความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น และการสร้างความเข้าใจกับสังคมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการ Bubble & Seal นี้ ซึ่งเราก็ได้ติดตามประเมินสถานการณ์ในทุกๆวัน


นายธีรพัฒน์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงาน Bubble & Seal โดยแนวทางของสาธารณสุขจังหวัดได้กำหนดไว้คือประมาณวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 น่าจะมีการตรวจแอนตี้บอดี้ กับพนักงานที่เข้าสู่กระบวนการนี้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เคยตรวจหาเชื้อโควิด 19 แล้ว แต่ผลเป็นลบหรือไม่พบเชื้อนั่นเอง และเมื่อตรวจแอนตี้บอดี้ครั้งแรกแล้ว ก็นับไปอีก 14 วัน ตามระบบการควบคุมโรค ซึ่งหลังจากนั้นกระบวนการนี้ก็น่าจะจบลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามแผนการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้


นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนสถานการณ์ที่อำเภอบ้านแพ้วกับอำเภอกระทุ่มแบน ก็มีการตรวจเชิงรุกอยู่เรื่อยๆ และจากการรายงานพร้อมทั้งผลแลป ก็ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมใน 2 อำเภอนี้ ส่วนการปลดล๊อคนั้นต้องประเมินดูอีกที ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของสาธารณสุข ส่วนตลาดกลางกุ้งตอนนี้ก็เหลือแค่ทางที่ผู้ประกอบการต้องมายื่นแผนกับทางจังหวัด เพื่อให้จังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาว่า การปฏิบัติตามแผนนั้นถูกต้อง ตามหลักการของทางด้านสาธารณสุขหรือไม่ ,ผู้ประกอบการ มีความพร้อมหรือยัง และความเชื่อมั่นจากผู้เข้ามาซื้อจากตลาดกลางกุ้งมากน้อยขนาดไหนอันนี้ต้องมีการนำเสนอจากผู้ประกอบการในตลาดกลางกุ้งต่อไป

Related Articles