“โคกขาม” ถึง พันท้ายนรสิงห์ เปรียบมวยชกกับพระเจ้าเสือ จริง ฤา

“โคกขาม” ถึง พันท้ายนรสิงห์ เปรียบมวยชกกับพระเจ้าเสือ จริง ฤา

“โคกขาม” ถึง พันท้ายนรสิงห์  เปรียบมวยชกกับพระเจ้าเสือ จริง ฤา  (๓)       

  เรื่องของชายผู้ซื่อสัตย์ ยึดถือความถูกต้องของกฏหมายยิ่งกว่าชีวิต เป็นที่ยกย่องเชิดชูของประชาชนชาวไทยและสมุทรสาคร คือ “พันท้ายนรสิงห์” ข้าหลวงบรรดาศักดิ์นายพันท้ายเรือพระที่นั่ง  มีปรากฏชื่อในพงศาวดารมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

   พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (เล่ม ๒ ๒๕๑๖ / ๑๘๗ – ๑๙๓) บันทึกชื่อสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ ตอนหนึ่ง ว่า

  ” อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก ณ ท้องพระโรง จึงมีพระราชโองการตรัสถามข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงว่า ข้างปัจจันตชนบทประเทศบ้านนอกเขามีการมหรสพงานใหญ่ที่ไหนบ้าง ขณะนั้นข้าราชการคนหนึ่งกราบทูลพระกรุณาว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าว่า ณ บ้านปัจจันตชนบทแขวงเมืองวิเศษชัยชาญเพลาพรุ่งนึ้ชาวบ้านทำการฉลองพระอาราม มีการมหรสพใหญ่ (งานใหญ่บ้านนอกสมัยนั้นจะมีการแสดงฟันดาบและชกมวยทุกงาน – ผู้เขียน) จึงมึพระราชดำรัสว่า แต่เราเป็นเจ้ามาช้านานมิได้เล่นมวยปล้ำบ้างเลยและมือก็หนักเหนื่อยเมิ่อยล้าช้าอ่อนไป เพลาพรุ่งนี้เราจะไปเล่นสนุกสนานชกมวยลองฝีมือให้สบายใจสักหน่อยหนึ่งเถิด…”

  ครั้นรุ่งขึ้นจึงเสด็จด้วยชลพาหนะ แวดล้อมไปด้วยเหล่าทหารคูพระทัยไปถึงบ้านตลาดกรวด จอดเรือไว้แล้วปลอมตัวเป็นสามัญชนพร้อมด้วยตำรวจมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเดินเขาไปในงาน ขณะนั้นมีการเปรียบมวยจึงให้ข้าหลวงไปแจ้งกับนายสนามว่ามีนักมวยจากเมืองกรุงมาขอเปรียบมวยด้วยคนหนึ่ง

  เมื่อเปรียบมวยได้คู่แล้วพระเจ้าเสือกับนักมวยบ้านนอกคนนั้นก็เข้าชกซึ่งกันและกัน ฝีมือทั้งสองฝ่ายนั้นทัดเทียมกันเป็นที่ชอบอกชอบใจของคนดูโดยรอบ ครั้นสู้ไปได้กึ่งยกมวยฝ่ายบ้านนอกเพลี่ยงพล้ำถูกจุดสำคัญหลายครั้งและพ่ายแพ้ไป  นายสนามก็ตกรางวัลผู้ชนะบาทหนึ่งและนักมวยผู้แพ้สองสลึง  พระเจ้าอยู่หัวยังมีพละกำลังอยู่จึงขอให้นายสนามเปรียบมวยคนอื่นมาสู้อีก แต่นักชกแต่ละคนชกเพียงไม่ถึงกึ่งยกก็แพ้ไปหมด  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พาข้าหลวงกลับสู่เรือพระที่นั่งค่อยสำราญพระราชหฤทัยแล้วเสด็จกลับพระนครศรีอยุธยา

  จากความในพระราชพงศาวดารนี้ ไม่มีปรากฏชื่อนักมวยเลยแม้แต่คนเดียวและก็ไม่ได้ทรงรับนักมวยคนใดมารับราชการในตำแหน่งพันท้ายแต่อย่างไร  ทีนี้ประวัติที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศในช่วงหกสิบปีมานี้เชื่อกันว่าพระเจ้าเสือทรงรับนักมวยคนหนึ่งชื่อ “สิงห์”  และพระราชทานบรรดาศักดิ์ “พัน”  ตำแหน่งพันท้ายเรือพระทึ่นั่ง ซึ่งไม่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารไม่ว่าฉบับใด

  ชื่อพันท้ายนรสิงห์ มีชื่อในพระราชพงศวดารตอนหนึ่ง ว่า      ” ลุศักราชได้ ๑๐๖๖ (๒๒๔๗) ปีวอก ฉศก ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัยจะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขามและคลองทึ่นั้นคดเคี้ยวนัก แลพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคิดแก้ไขไม่ทันที และศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้าก็หักตกลงในน้ำ…….”

  พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่าความผิดครั้งนี้โทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี จึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษ  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ทรงพิจารณาเห็นว่าเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาทจึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ประหารตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฏหมาย   พันท้ายนรสิงห์ยืนยันให้ตัดศีรษะตนเป็นหลายครั้งก็ทรงจำพระทัยดำรัสให้เพชฌฆาตประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล

ภายหลังเหตุการณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้นำศพพันท้ายนรสิงห์มาแต่งการพระราชเพลิงศพ และพระราชทานเงินทองสิ่งของแก่บุตร ภรรยาพันท้ายยรสิงห์เป็นจำนวนมาก (พงศาวดารไม่ได้ระบุนามบุตรและภรรยาพันท้ายนรสิงห์ว่าชื่ออะไร – ผู้เขียน)

   ประวัติวีรกรรมพันท้ายนรสิงห์มีผู้เขียนไว้หลายท่าน อาทินายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เขียนเล่าว่าเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศวดารฉบับต่าง ๆ เนื้อความเป็นทำนองเดียวกันหมดเฉพาะเหตุการณ์ที่คลองโคกขาม ส่วนประวัติชีวิตในสมัยต้นไม่มีปรากฏ      ส.พลายน้อย นักเขียนประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งแสดงทรรศนะว่าในพระราชพงศาวดารไม่ได้กล่าวถึงนักมวยที่ได้มาชกกับพระเจ้าเสือว่าชื่ออะไร แต่มีผู้กล่าวอ้างว่าชื่อ “สิงห์” นั้นเป็นเรื่องนอกพงศาวดาร จะถูกหรือผิดไม่ทราบแต่ความเข้าใจของผู้เขียน (ส.พลายน้อย) คิดว่าพันท้ายนรสิงห์น่าจะรับราชการอยู่กับพระเจ้าเสือครั้งยังเป็นหลวงสรศักดิ์ในพระราชพงศาวดารจึงเรียกว่า “ข้าหลวงเดิม”

    เป็นอันว่า นักมวยที่ชกกับพระเจ้าเสือไม่มีหลักฐานยินยันว่าเป็นคนคนเดียวกับพันท้ายนรสิงห์ หรือมีหลักฐานว่าชื่อนายสิงห์    แต่มีในชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้เพียงว่าพันท้ายนรสิงห์เป็นชาวบ้านนรสิงห์แขวงเมืองอ่างทอง

   ผมมาถึงบางอ้อเมื่อได้อ่านข้อเขียนของสุวัฒน์ วรดิลก หรือรพีพร นักประพันธ์ นักเขียนบทละครเวที-ภาพยนตร์ ท่านเขียนเล่าเรื่องพันท้ายนรสิงห์ไว้ในหนังสือมิตรเจริญการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ ว่าพันท้ายนรสิงห์เดิมไม่มีชื่อ ไม่มีประวัติ ไม่มีหลักแหล่งบ้านเดิม มีแต่ชื่อบรรดาศักดิ์ “พันท้ายนรสิงห์” ดังปรากฏในพระราชพงศวดารกรุงศรีอยุธยาครั้งทำหน้าที่นายท้ายเรือเสด็จไปปากน้ำสาครบุรีครั้งเดียว

  เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๗ พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล เจ้าของคณะอัศวินการละครประสงค์จะนำเรื่องพันท้ายนรสิงห์แสดงละครเวที แต่เรื่องในพงศาวดารมีเหตุการณ์น้อยมาก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเค้าโครงเรื่องใหม่  โดยกำหนดให้พันท้ายนรสิงห์เป็นนักมวยชาวบ้านแขวงวิเศษชัยชาญ  และได้ชกมวยกับพระเจ้าเสือ  แล้วโปรดเกล้าฯมารับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่ง เพิ่มตัวละคร “ศรีนวล” (นางเอก) เป็นภรรยาพันท้ายนรสิงห์ และเรื่องราวอื่น ๆ เพื่อให้ละครสามารถแสดงได้ต่อเนื่องประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง

   เมื่อละครออกแสดง และต่อมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายครั้งจึงทำให้ประชาชนเชื่อประวัติพันท้ายนรสิงห์ตามละครและภาพยนตร์แทนประวัติในพระราชพงศาวดารซึ่งมีคนอ่านเพียงไม่กี่คน

  เปิดใน  Google ก็ยังพบประวัติที่เขียนตามแบบละคร /  ภาพยนตร์ เยาวชนรุ่นใหม่ก็จะเชื่อตามนึ้ไปด้วย

  อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์นับเป็นวีรกรรมที่ควรยกย่องสรรเสริญในความจงรักภักดี ความเสียสละอย่างใหญ่หลวงเพื่อรักษากฏหมายให้ศักดิ์สิทธิ จึงเป็นความภูมิใจมิใช่เฉพาะชาวสมุทรสาคร แต่เป็นความภูใจของประชาชนทั้งประเทศ.

Cr. ปรีชา  ฐินากร คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

Related Articles