นางรำ 519 คน รำบวงสรวงดวงวิญญาณพ่อพันท้ายนรสิงห์เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ครบรอบ 319 ปี

นางรำ 519 คน รำบวงสรวงดวงวิญญาณพ่อพันท้ายนรสิงห์เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ครบรอบ 319 ปี

นางรำ 519 คน รำบวงสรวงดวงวิญญาณพ่อพันท้ายนรสิงห์เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ครบรอบ 319 ปี

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. ที่บริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณพ่อพันท้ายนรสิงห์ เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ เนื่องในวันคล้ายวันครบรอบการเสียชีวิต 319 ปี พร้อมด้วย นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ในฐานะประธานมูลนิธิพันท้ายนรสิงห์ นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ดร.สุนทร วัฒนาพร อดีตสมาชิกวุฒิสภา ดร.ปรีชา สิริแสงอารำพี ในนามมูลนิธิพันท้ายนรสิงห์ หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และประชาชน เข้าร่วมพิธี ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าก็มีผู้ที่เคารพศรัทธาในองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ นำผลไม้นานาชนิดมาถวายกันเป็นจำนวนมาก และนอกจากจะมีพิธีบวงสรวงฯแล้วนั้น ก็มีการจัดมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งหมด 100 ทุน ทุนละ 1,000 บาท สำหรับพิธีบวงสรวงพ่อพันท้ายนรสิงห์ มีคณะนางรำประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 519 คน ร่วมรำบวงสรวงพ่อพันท้ายนรสิงห์ด้วยพลังแห่งความศรัทธา ในเพลง “แหล่พันท้ายนรสิงห์” ซึ่งเป็นการแสดงที่มีความพร้อมเพรียง สามัคคี และสวยงามเป็นอย่างมาก

สำหรับประวัติโดยย่อของพ่อพันท้ายนรสิงห์นั้น เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งในรัชสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 โดยพันท้ายนรสิงห์ เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ มีชื่อเดิมว่า “สิน” เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อ “นวล” หรือ “ศรีนวล” ได้รู้จักกับพระเจ้าเสือด้วยการแข่งขันชกมวยไทยกัน เมื่อพระองค์แปลงองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดาและทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอ ต่อมาได้กลายมาเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ ในบรรดาศักดิ์ “พัน” เมื่อครั้งที่พระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย ประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งถึง “ตำบลโคกขาม” ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่ง มิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้วกราบทูลให้ทรงลงพระอาญาตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ ในเวลาเช้าตรู่ ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 2247 แล้วสร้างศาลไม้ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นศาลไม้ในสมัยปัจจุบัน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางมน พื้นศาลเป็นไม้ยกชั้น 2 ชั้น มีเสารองรับ 6 เสา พร้อมกับศีรษะของพันท้ายนรสิงห์และโขนเรือเอกไชยขึ้นตั้งไว้บูชาพร้อมกัน ด้วยคุณงามความดีของพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกบอกเล่าต่อๆกันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้พันท้ายนรสิงห์กลายเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของผู้คนจำนวนมากในด้านความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง ยอมตายเพื่อมิให้กฎหมายบ้านเมืองคลายความศักดิ์สิทธิ์ มิให้เสื่อมเสียและสูญหายไป

Related Articles