16/08/2019 กรมประมงทำลายซากสัตว์น้ำของกลางที่คดีสิ้นสุดครั้งแรกที่่สมุทรสาคร

16/08/2019 กรมประมงทำลายซากสัตว์น้ำของกลางที่คดีสิ้นสุดครั้งแรกที่่สมุทรสาคร

นายคณิศร์ นาคสังข์ ผู้อำนวยการกองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กรมประมง เป็นประธานในพิธีทำลายของกลางซากของสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ที่มาจากการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยมีนายไกสฤษดิ์ พูนพาณิชย์ นักวิชาการประมง กรมประมง,นายสุภาพ ไพรพนาพงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 2 (สมุทรสาคร) เจ้าหน้าที่กรมประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร) ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

นายคณิศร์ นาคสังข์ ผู้อำนวยการกองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กล่าว่า กรมประมงมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการลักลอบนำเข้า ส่งออก ค้า หรือครอบครองสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการลักลอบนำเข้าส่งออกสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าที่ปรากฎตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดของสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว

สำหรับ ของกลางที่นำมาทำลายด้วยวิธีการบดและฝังกลบในครั้งนี้ เป็นของกลางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2561 ซึ่งคดีสิ้นสุดแล้วตกเป็นของแผ่นดิน และมีสภาพชำรุดผุพังและเสื่อมสภาพ โดยเป็นการทำลายตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ตกเป็นของแผ่นดิน พ.ศ.2541 ซึ่งประกอบด้วยของกลางที่มีการกระทำความผิด จำนวน 16 คดี จำนวน 10 รายการ ได้แก่ ซากม้าน้ำแห้ง, ซากปลาจิ้มฟันจระเข้แห้ง, ซากปะการัง, ซากกัลปังหา, ซากจระเข้, ซากเต่า, ซากตะพาบน้ำไทย, ซากดาวทะเล, ซากเปลือกหอย และซากหอยงวงช้างตากแห้ง รวมมูลค่าประมาณ 5,500,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ของกลางมีการลักลอบนำไปขายทำยา ทำเครื่องประดับ หรือนำไปตกแต่งอควาเรียม เป็นต้น ซึ่งซากสัตว์น้ำฯ เหล่านี้มีความสำคัญทางทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นอย่างมาก บางชนิดอยู่ในสภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์ บางชนิดใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะเจริญเติบโตขึ้นมา ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจที่จะประเมินค่าได้ และปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น มีการลักลอบการนำเข้าด้วยวิธีการที่หลากหลายและหลายช่องทางเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งการกระทำความผิดนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000.- (สี่หมื่นบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้ง การลักลอบยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในด้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

กรมประมง จึงมุ่งหวังว่าภารกิจงานการทำลายของกลางในครั้งนี้ จะเป็นสื่อในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาการลักลอบการนำเข้าส่งออกการค้าและครอบครองสัตว์น้ำ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และนำไปสู่การอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่านี้ของประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป

administrator

Related Articles