วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เวลา 14.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการป้องกันควบคุมโรคโควิด19และการดำเนินงานค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวรวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์รังสีรักษา ที่โรงพยาบาลนครท่าฉลอม ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลบ้านแพ้ว คณะแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อสม.และอสต. ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ให้การต้อนรับ
นายอนุทินฯ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด19 ประเทศไทยในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังคงเข้มมาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก นำเข้าสู่การรักษาเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เน้นในกลุ่มเสี่ยงเช่นแรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้ต้องขัง บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งกลุ่มอาชีพที่พบปะคนจำนวนมาก สำหรับเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จำนวนมาก ได้มอบนโยบายให้ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ออกเคาะประตูบ้าน หอพักคนงาน ดูแลให้ความรู้เรื่องการเว้นระยะห่าง หารสวมหน้ากาก การล้างมือบ่อยๆ และคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ผลการตรวจหาเชื้อด้วยน้ำลาย รวมทั้งสิ้น 3,446 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นตัวอย่างที่จังหวัดสมุทรสาคร2,168 ตัวอย่าง ผลจากการตรวจไม่พบในผู้ติดเชื้อในตัวอย่างที่เก็บมาทั้งหมด เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับการควบคุมโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส2019 เพิ่มขึ้น และในการผ่อนคลายมาตรการระยะ2 ผ่านมา 4 – 5วัน สภาพก็ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ลุ้นไปอีกสัก10วันถ้าเราควบคุมแบบนี้ได้แสดงว่าประเทศของเราปลอดภัยด้วยมาตรการด้วยการควบคุมที่ดี ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยเราปลอดภัยจากการติดเชื้อเพราะคนไทยทุกคนใส่หน้ากากอนามัย
จากนั้น นายอนุทินฯ พร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์รังสีรักษา โรงพยาบาลนครท่าฉลอม โดยศูนย์รังสีรักษาแห่งนี้สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้วันละ 15 ราย และให้บริการฉายรังสีได้วันละ 45 ราย ผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครและจากจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขต นอกจากนี้ผู้ป่วยจากเขตรอยต่อกรุงเทพฯมารับบริการ ทำให้ลดการแออัดโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เพื่อจัดบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ