ปฏิบัติการเชิงรุก TTV Model “ ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกัน” นำร่องตำบลโคกขาม

ปฏิบัติการเชิงรุก TTV Model “ ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกัน” นำร่องตำบลโคกขาม

ปฏิบัติการเชิงรุก TTV Model “ ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกัน” นำร่องตำบลโคกขาม

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 จังหวัดสมุทรสาคร จากการรายงานข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเวลา 24.00 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,178 ราย จำแนกเป็นพบผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุก 240 ราย และ พบผู้ติดเชื้อที่มาจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลอีก 938 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร 728 ราย และที่เหลือเป็นคนนอกจังหวัดอีก 210 ราย ส่วนวันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อในกลุ่ม Bubble & Sealed ด้านผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดรวม 48,389 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 30,431 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 17,831 ราย และ ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 4 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 127 ราย

ขณะที่ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 นั้น ในส่วนของอำเภอเมืองสมุทรสาคร เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น.ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ก็ได้นำทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ร่วมกับ ทีมปฏิบัติการของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ภายใต้การควบคุมของนายณภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร จัดโครงการหน่วยต้านโควิดสัญจร “ทั่วถึง …ทุกพื้นที่ .. ดูแลดี … ดุจญาติมิตร” Test Treat Vaccine (TTV Team) นำร่องให้แก่ประชาชนตำบลโคกขามขึ้นเป็นพื้นที่แรก โดยมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเปราะบางใน 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นต้น ที่มาเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกคนที่มาเข้ารับบริการนั้น หลังจากที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติและบันทึกข้อมูลในระบบเบื้องต้นแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการหรือขั้นตอนที่เรียกว่า ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกัน คือ ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kits (ATK) จากนั้นนั่งรอผลประมาณ 15 นาที ถ้าผลเป็นลบ ก็ให้ไปต่อที่การฉีดวัคซีน ซึ่งประชาชนสามารถเลือกตามความสมัครใจได้ โดยมีให้เลือก 2 แบบคือ แบบที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้า + แอสตราเซเนก้า ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันใน 14 สัปดาห์ หรือ แบบที่ 2 ซิโนแวค + แอสตราเซเนก้า ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันใน 6 สัปดาห์ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็นั่งรอดูอาการจนครบ 30 นาที เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมแล้วกลับบ้าน ขณะที่ผู้ที่มีผลเป็นบวก จะต้องเข้าสู่ห้องแยกกักตัวชั่วคราว เพื่อคัดกรองอาการของโรคทันที และทางเจ้าหน้าที่ฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้ติดเชื้อรายนั้นต้องให้ยาหรือไม่ ถ้าต้องให้ยาควรเป็นฟ้าทะลายโจร หรือยาพาวิฟิราเวีย และต้องใช้วิธีการกักตัวแบบใดตามความเหมาะสม คือ ใช้ระบบ HI , CI หรือ โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก

นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า การจัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร หรือปฏิบัติการเชิงรุกแบบครบวงจร Test Treat Vaccine (TTV Team) นี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นจึงได้ร่วมกับทีมของทางอำเภอเมืองสมุทรสาคร จัดโครงการหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ขึ้นในทั้ง 18 ตำบล เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางอีกราวๆ 50,000 คน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยจะจัดหน่วยเคลื่อนที่ฯ ในทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งตำบลโคกขามเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของอำเภอเมืองสมุทรสาคร เนื่องจากการพิจารณาของทางอำเภอพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีการกระจายตัวของเชื้อโรคค่อนข้างสูง อีกทั้งประกอบกับทีมเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ของตำบลโคกขามมีความพร้อม และประชาชนกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงเห็นสมควรให้ตำบลโคกขามเป็นพื้นที่นำร่อง ตำบลแรกของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในการจัดหน่วยเคลื่อนที่ดังกล่าว

ขณะที่นายชาญณรงค์ พงษ์สิงห์ อายุ 53 ปี ผู้เข้ารับบริการที่เลือกฉีดวัคซีนแบบที่ 2 ซิโนแวค + แอสตราเซเนก้า ใช้เวลาสร้างภูมิใน 6 สัปดาห์ บอกว่า ที่ตนเลือกฉีดแบบนี้เพราะคุณหมอบอกช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วกว่าแบบฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ส่วนเรื่องของความมั่นใจนั้น ส่วนตัวก็ไม่สามารถบอกได้ แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาแบบนี้น่าจะดีอยู่แล้ว

ส่วนทางด้านของนางกาหลง นุชปาน อายุ 48 ปี ผู้เข้ารับบริการที่เลือกฉีดวัคซีนแบบที่ 1 แอสตราเซเนก้า + แอสตราเซเนก้า ใช้เวลาสร้างภูมิใน 14 สัปดาห์ บอกว่า ที่เลือกฉีดแบบนี้เพราะตอนแรกเห็น ซิโนแวค มีปัญหาจึงรู้สึกกลัว ประกอบกับสามีฉีดแอสตราฯ แล้วเป็นอะไร จึงได้ฉีดตาม

ด้านนางกัญจน์อมร วิจิตร์ปฐมกุล ผอ.รพ.สต.บ้านขอม ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาครบอกว่า ในพื้นที่ๆ ตนเองรับผิดชอบนั้น พบผู้ติดเชื้อกระจายตัวอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่มีการนำผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางมาทำการฉีดวัคซีนนี้แล้ว ก็เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดหรือ ลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด 19 ลงได้ แต่ทั้งนี้ก็อยากจะฝากถึงทุกคนว่า หลังจากที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ยังคงต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไปคือ มาตรการป้องกันตนเอง สวมแมส ล้างมือ เว้นระยะห่าง เป็นต้น

Related Articles