สมุทรสาคร จัดพิธีวางพวงมาลา วันปิยมหาราช น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า รัชกาลที่ 5

สมุทรสาคร จัดพิธีวางพวงมาลา วันปิยมหาราช น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า รัชกาลที่ 5
สมุทรสาคร จัดพิธีวางพวงมาลา วันปิยมหาราช น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า รัชกาลที่ 5
วันที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา และกล่าวคำถวายราชสดุดีเนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พระปิยมหาราช) ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม) ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร ศาลจังหวัด อัยการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายกมนตรีนครสมุทรสาคร ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมพิธีและร่วมวางพวงมาลากันเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ ด้วยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า เรียกว่า “วันปิยมหาราช” กษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์
ทั้งนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ท่านทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อันนำมาซึ่งความเจริญของบ้านเมือง และความสุขสงบให้กับราษฎรของพระองค์ และเหตุการณ์สำคัญสำหรับจังหวัดสมุทรสาคร คือ การที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพระราชทานอำนาจให้พสกนิกรชาวสมุทรสาครได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และถือเป็นจุดกำเนิดการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองของตนอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น “วันท้องถิ่นไทย” นั่นเอง

Related Articles