นายก อบจ.สค. ลงพื้นที่ติดตามการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจืด ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะน้ำเค็มรุก

นายก อบจ.สค. ลงพื้นที่ติดตามการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจืด ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะน้ำเค็มรุก

นายก อบจ.สค. ลงพื้นที่ติดตามการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจืด ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะน้ำเค็มรุก
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 19 มกราคม 2567 นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายอภิชาต โพธิ์ถนอม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่บริเวณ หมู่ 1 ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตามการติดตั้งสูบน้ำจืดจากคลองลำประโดง เพื่อนำใส่รถบรรทุกน้ำส่งไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตามสวนต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกจนไม่มีน้ำจืดใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็มีผู้นำหมู่บ้านตำบลท่าไม้ ผู้นำตำบลบางยาง ตัวแทนเกษตรกร และ อบต.ท่าไม้ มาร่วมด้วย

สำหรับจุดที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจะเป็นคลองหลอดหรือคลองลำประโดง ในตำบลท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน ที่เชื่อมต่อกับคลองบางม่วง อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นคลองที่มีน้ำจืดส่งผ่านมาได้ จากนั้นก็จะทำการสูบน้ำจากคลองใส่รถน้ำดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.ท่าไม้ อบต.บางยาง อบต.หนองนกไข่ และ อบจ.สมุทรสาคร แล้วนำไปส่งให้กับเกษตรกรตามสวนต่างๆ ที่ต้องการน้ำจืดเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันนี้ พบว่ายังมีบางวันที่สามารถนำน้ำในแม่น้ำท่าจีนมาใช้ได้ เพราะค่าความเค็มยังขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ แต่ถ้าถึงช่วงที่เข้าสู่ภาวะน้ำเค็มรุกเต็มพื้นที่เมื่อใดนั้น ในแต่ละวันก็จะต้องวิ่งส่งน้ำกันหลายรอบ เพราะมีกว่า 1,000 สวน ที่ต้องการน้ำจืด
ด้านตัวแทนผู้นำท้องที่ บอกว่า ปีนี้น้ำเค็มรุกมาเร็วมาก และคาดว่าจะมีความรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี โดยน้ำเค็มได้เกิดขึ้นมาหลายสิบวันแล้ว ที่ผ่านมาค่าความเค็มบางวันก็สูงเกินค่ามาตรฐาน จนไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ โดยเฉพาะในสวนกล้วยไม้ที่อ่อนไหวต่อความเค็ม จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการส่งน้ำจืดเข้าไปเก็บตามบ่อของสวนต่างๆ และตอนนี้ทางท้องถิ่นที่มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ ก็เปิดให้เกษตรกรมาลงชื่อเพื่อขอรับน้ำจืด ต่อจากนั้น ก็จะมีการสูบน้ำใส่รถดับเพลิงเพื่อนำไปส่งให้ตามสวนต่างๆ ที่ร้องขอไว้ นอกจากนี้กรมชลประทานก็จะเข้ามาช่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อบรรเทาช่วยเหลือปัญหาดังกล่าวอีกด้วย โดยจะติดตั้งในวันจันทร์ที่ 22 มกราคมนี้ ในพื้นที่ตำบลหนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ส่วนตัวแทนเกษตรกร บอกเสริมด้วยว่า ในมุมของเกษตรกรที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำเค็มรุกทุกปี จนไม่สามารถนำมาใช้ทำการเกษตรได้นั้น ก็ต้องการให้ทางจังหวัดสมุทรสาคร หรือภาครัฐ ผลักดันให้สถานการณ์น้ำเค็มรุกนี้ เป็นพิบัติภัย หรือภัยทางธรรมชาติ ที่สามารถขอรับเงินเยียวยา หรือ มีการจัดสรรงบประมาณมาเพื่อการแก้ไขและบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรในทุกพื้นที่ได้เช่นเดียวกับพิบัติภัยอื่นๆ
ขณะที่นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า เรื่องของน้ำเค็มรุกนั้น เป็นปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรของจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำท่าจีนต้องประสบมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยทาง อบจ.สมุทรสาคร ได้มีการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบด้วยการขุดลอกคลองและเก็บวัชพืชทางน้ำไหลผ่านไว้แล้ว กระทั่งเมื่อมีน้ำเค็มรุกขึ้นมา เบื้องต้นก็คือการแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ในระยะเร่งด่วนก่อน อย่างเช่น การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและรถดับเพลิงทั้งของ อบจ.สมุทรสาคร และ อปท.เพื่อนำน้ำใส่รถแล้ววิ่งส่งช่วยเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งการพยายามเชื่อมต่อคลองสาขาหรือการหาแนวทางเพื่อวางท่อส่งน้ำให้เชื่อมโยงถึงกัน สามารถส่งน้ำจืดไปได้แบบครอบคลุมโดยไม่ต้องใช้รถส่งน้ำ ส่วนเรื่องของทำประตูปิดแม่น้ำท่าจีน เป็นโครงการที่ทางกรมชลประทานกำลังมีการพิจารณาอยู่ นอกจากนี้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็จะต้องติดตามค่าความเค็มของน้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ามีความผันผวนเกินขึ้นได้ตลอด และยิ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุน จะพบว่าค่าความเค็มสูงขึ้นด้วย

Related Articles