วันที่ 24 เมษายน 2563 เวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง ที่บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย,ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย,นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า,นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้แปรรูปและผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลแปรรูป ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ รองอธิบดีกรมประมง กรมปศุสัตว์ ผู้แทนสมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย สมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมกุ้งภาคตะวันออก หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ด้วยกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นจึงได้เดินทางมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายจุรินทร์ฯ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทยตัวเลขมูลค่าการตลาดทั้งหมดในภาพรวมของปีที่แล้ว 2562 ประมาณ 172,235 ล้านบาท ผลผลิตทั้งหมด 1,188,523 ตัน บริโภคในประเทศร้อยละ 22 ส่งออกร้อยละ 78 โดยประมาณการส่งออกปีที่แล้ว 2562 ทั้งหมด 173,961.78 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.28% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด สำหรับไตรมาสแรกยอดส่งออกทั้งหมด 37,910 ล้านบาท สำหรับไตรมาสแรกนั้น ติดลบร้อยละ 9.77 ดังนั้นวันนี้ที่ได้หารือร่วมกันกับภาคเอกชนไม่ได้หมายถึงศักยภาพการส่งออกของเราไม่ดี แต่เกิดจากการล็อคดาวน์ ของประเทศคู่ค้าของเราหลายประเทศในโลกจึงส่งผลกระทบต่อตัวเลข อย่างไรก็ตามได้หารือร่วมกันทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนว่า โอกาสที่เราจะพลิกฟื้นตัวเลขกลับมาเป็นบวกก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะจับมือร่วมกันในการทำตัวเลขที่ดีขึ้นคาดว่าในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่จะเพิ่มตัวเลขกลับมาเป็นบวกได้อย่างแน่นอน
สำหรับตลาดหลักประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและออสเตรเลียเป็นด้านหลัก สำหรับสหรัฐอเมริกาเราส่งออกร้อยละ 21.4 ญี่ปุ่นร้อยละ 20.7 จีนร้อยละ 6.3 และออสเตรเลียร้อยละ 5.4 ผลิตภัณฑ์สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดในภาพรวมประกอบด้วย 1. ปลาทูน่ากระป๋องปลาซาร์ดีนกระป๋อง 2.อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากทูน่า3.กุ้ง 4.ปลาหมึก 5.ปลา หมวดสำคัญของเราอันหนึ่งก็คือทูน่ากระป๋องซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นลำดับหนึ่งของโลกมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 28.5 มูลค่าการส่งออกปีที่แล้ว 67,673.3 ล้านบาท สำหรับปีนี้สามารถทำยอดออกมาเป็นบวกได้ร้อยละ 3 ส่วนไตรมาสที่สองภาคเอกชนประเมินว่าจะสามารถทำตัวเลขเป็นบวกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 สำหรับตลาดหลักของมีสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
นายจุรินทร์ฯ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้ ได้มีการจัดทำแผนที่จะเดินหน้าร่วมกันทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์และในส่วนของภาคเอกชนได้กำหนดเป้าหมายว่าสำหรับไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ของปีนี้จะพยายามช่วยกันทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นบวกอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการดำเนินการร่วมกันใน 4 มาตรการ มาตรการที่หนึ่งการช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะกระป๋อง ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องรับซื้อจากในประเทศซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง กรมการค้าต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการช่วยนัดผู้ผลิตเหล็กผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องและผู้แปรรูปและผู้ส่งออกในเรื่องอาหารทะเลมาพบเพื่อหาทางร่วมกันในการที่จะลดต้นทุน,มาตรการที่สอง คือ กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดในการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรหรือ UK ถ้าเป็นไปได้จะเดินหน้าทำ FTA กับแอฟริกาและกลุ่มประเทศยูเรเซียรวมทั้งการดำเนินหน้าที่จะผลักดันให้เกิดการลงนามในข้อตกลงRCEPให้ได้ในปีนี้,มาตรการที่สาม กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนในการเดินหน้าหาส่วนแบ่งเพิ่มเติมประกอบด้วย 4 ตลาด 1.จีน 2.รัสเซีย 3.แอฟริกาใต้ 4.อเมริกาใต้ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็จะไปทำแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมาว่าเราจะจับมือเดินไปตลาดเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง และมาตรการที่สี่ ต้องจับมือกันระหว่างรัฐกับเอกชนในการช่วยทำประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยของอาหารในช่วงวิกฤติโควิดเพื่อให้คนทั้งโลกได้เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยที่ส่งออกไปนั้นปลอดจากโควิด โดยนอกจากกระทรวงพาณิชย์แล้วยังมีกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ที่จะจับมือร่วมกันทำ MOU ในการออกหนังสือรับรอง COVID FREE CERTIFICATE ว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงงานปลอดจากเชื้อโควิดได้ 100% และยังรวมไปถึงความปลอดภัยตั้งแต่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงด้วย เพื่อที่จะใช้เป็นอีกเอกสารสำคัญในการโฆษณาอาหารไทยกับตลาดโลกต่อไป เพื่อผลักดันเรื่องของการทำตัวเลขในไตรมาสสามกับสี่ให้ดีขึ้นสำหรับหมวดอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง
ขณะที่ทางภาคเอกชนโดย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ในส่วนแรกอย่าลืมว่าบ้านเรามีการทำตลาดอาหารสำเร็จรูปปลากระป๋องแช่แข็งที่ผลิตได้เยอะมากกับกลุ่มรีเทลเลอร์หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต. เราทำกับฟู้ดเซอร์วิสน้อย แต่ตอนนี้ผลกระทบจากโควิดกลุ่มการบริการอาหาร เช่น ภัตตาคาร โรงแรม และการบิน มีปัญหาหมด แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขายดีมาก เพราะคนซื้อของกลับบ้านไปกิน จึงเป็นโอกาสทางการตลาดของอาหารแช่แข็ง และไม่มีปัญหา เนื่องจากมีลูกค้าสั่งซื้อจำนวนมาก , ในส่วนที่สองคือวัตถุดิบค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพในแง่ของจำนวนกับราคาดีพอควร มีเพียงกุ้งที่มีปัญหาอยู่ในแง่จำนวน แต่ที่ผ่านมาทางรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรก็ได้ทำงานอย่างเคร่งเครียดโดยกรมประมง กับผู้เลี้ยงและสมาคมมาเดือนกว่าถึงสองเดือนแล้วในการหามาตรการช่วยเหลือทั้งห่วงโซ่ จึงอยากให้มองไปในอนาคตหลังโควิดคลี่คลายว่า การส่งออกอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง และอาหารทะเลแปรรูปของสมุทรสาครจะต้องเติบโตไปได้ไกลอีกแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัยในการดูแลป้องกันโควิด
ส่วน ดร ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวอีกว่า ตอนนี้ปัญหาคลี่คลายดีมาก ก็คิดว่าอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาสามารถมีวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนตลาดต่างประเทศเรามั่นใจว่าปีนี้ทั้งปีตัวเลขจะโตไม่ต่ำกว่า 10%