ยอดติดเชื้อพุ่งพรวด อบจ.สมุทรสาครเร่งสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 14 รองรับผู้ป่วย

ยอดติดเชื้อพุ่งพรวด อบจ.สมุทรสาครเร่งสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 14 รองรับผู้ป่วย

ยอดติดเชื้อพุ่งพรวด อบจ.สมุทรสาครเร่งสร้าง ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 14 รองรับผู้ป่วย

เมื่อเวลา 09.30 น. ของ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 14 อาคารรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัด ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อคนไทยทั้งชายและหญิงรวมจำนวน 500 เตียง โดย นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้เร่งดำเนินการวางแผนและบริหารงานอย่างเร่งด่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เพื่อรับผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากขึ้น เข้ามาดูแลรักษา โดยภายในอาคารมีการนำเตียงสนาม พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อเข้ามาจัดเรียง และทำความสะอาดทั่วทั้งอาคาร ขณะที่ภายนอกอาคารยังคงเหลือในส่วนของการเทปูนและปรับพื้นที่บริเวณด้านข้างโรงพยาบาลสนามฯ การกั้นรั้วลวดหนาม และการติดตั้งห้องน้ำ – ห้องสุขา (เคลื่อนที่) อีกบางส่วนเท่านั้น ด้านระบบสาธารณสุขหรือการดูแลผู้ติดเชื้อที่อยู่ภายในอาคาร โดยบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านแพ้วองค์การมหาชนนั้น ก็มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด และวางแผนการให้บริการทางด้านการแพทย์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงให้การจัดสิ่งของภายในอาคารเสร็จสิ้นเท่านั้น

จากการรายงานพบว่าการติดเชื้อเป็นลักษณะของการกระจายตัวภายในบ้านและชุมชน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อกันในครอบครัว ดังนั้นจึงได้มีการวางแผนไว้ในหลายๆ รูปแบบด้วยกัน รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น เรื่องของ Home Isolation หรือการกักตัวอยู่ที่บ้านสำหรับผู้ติดเชื้อที่สมัครใจ แต่จะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สภาพบ้านมีสุขภาวะเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งก็ได้มีการเจรจาหารือร่วมกับทีมแพทย์พยาบาลแล้วว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

นายธีรพัฒน์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น กับจำนวนเตียงของโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คาดได้ว่าน่าจะยังเพียงพออยู่ แต่ในขณะเดียวกันเองนั้น ก็ได้ให้นายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ ช่วยกันหาสถานที่เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่หากมีความจำเป็นจะต้องมีโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล ที่ตอนนี้ก็พบว่าเตียงในโรงพยาบาลก็มีผู้ป่วยครองเตียงเต็มพิกัดแล้วเช่นกัน
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงงานนั้นก็ได้สั่งให้ทุกโรงงานหาโกดังหรือที่ดินของโรงงานเพื่อดำเนินการจัดทำสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อ หรือ FAI – Factory Isolation เพื่อที่จะใช้ในการดูแลคนงานของตนเอง และเป็นพื้นที่แยกระหว่างคนที่ติดเชื้อกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ส่งผลทำให้โรงงานสามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าสถานประกอบการใดไม่ดำเนินการตามก็จะต้องถูกดำเนินการตามข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งทางจังหวัดสมุทรสาครโดยคณะกรรมการโรคติดต่อได้มีคำสั่งให้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ โดยบางโรงงานอาจจะไม่พบผู้ติดเชื้อเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่มีการเตรียมความพร้อมเลย ถ้าเกิดเหตุขึ้นมาจะรับมือไม่ทัน ส่วนการประเมินสถานการณ์ในระยะนี้ก็คาดว่า น่าจะยังคงตัวเลขเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นหากประชาชนสามารถลดการเดินทางหรือชะลอการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากได้นั้น จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ส่วนมาตรการต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสาคร จะเข้มข้นหรือไม่ก็ต้องเป็นไปตามอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

สำหรับข้อมูลของเตียงสนาม (โรงพยาบาลสนาม ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564) พร้อมใช้งานทั้งหมด 2,054 เตียง ใช้งานไปแล้ว 1,815 เตียง คงเหลือ 239 เตียง โดยจำแนกเป็นศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 8 ส่วนเพิ่มเติมวัฒนาแฟคตอรี่ (2) ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลสมุทรสาคร รองรับผู้ติดเชื้อแรงงานข้ามชาติ มีจำนวนเตียง 775 เตียง ใช้งานเต็มแล้ว 775 เตียง ,ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 9 บริษัทวิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เดอะมันนี่ จำกัด ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ รองรับผู้ติดเชื้อคนไทย มีจำนวนเตียง 413 เตียง ใช้งานเต็มทั้งหมด 413 เตียง,ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 สภาอุตสาหกรรม ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลสมุทรสาคร รองรับผู้ติดเชื้อคนไทย มีจำนวนเตียง 192 เตียง ใช้งานแล้ว 166 เตียง คงเหลือ 26 เตียง, ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 11 ลานปฏิบัติธรรมวัดโกรกกราก ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลเอกชัย รองรับผู้ติดเชื้อคนไทย มีจำนวนเตียง 200 เตียง ใช้งานแล้ว 33 เตียง คงเหลือ 167 เตียง,ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 12 ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลสมุทรสาคร รองรับผู้ติดเชื้อคนไทย มีจำนวนเตียง 274 เตียง ใช้งานแล้ว 250 เตียง คงเหลือ 24 เตียง,ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 13 ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต เทศบาลนครอ้อมน้อย ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลมหาชัย 2 รองรับผู้ติดเชื้อคนไทย มีจำนวนเตียง 200 เตียง ใช้งานแล้ว 178 เตียง คงเหลือ 22 เตียง และ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 14 อาคารรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัด ดูแลรับผิดชอบโดยโรงพยาบาลบ้านแพ้ว รองรับผู้ติดเชื้อคนไทย มีจำนวนเตียง 500 เตียง อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ

Related Articles