อบจ.สมุทรสาคร จัดพิธีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสืบสานประเพณีห่อข้าวต้มมัดสามัคคี 

อบจ.สมุทรสาคร จัดพิธีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสืบสานประเพณีห่อข้าวต้มมัดสามัคคี 

อบจ.สมุทรสาคร จัดพิธีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสืบสานประเพณีห่อข้าวต้มมัดสามัคคี 

 เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 27 ธันวาคม 2565 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกับ วัดหนองนกไข่ อบต.หนองนกไข่ และชาวบ้านตำบลหนองนกไข่ จัดโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสืบสานประเพณีห่อข้าวต้มมัดสามัคคี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่บริเวณลานด้านหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดหนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมีนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ และ พระครูสาครคุณาภรณ์ เจ้าคณะตำบลบางยาง เจ้าอาวาสวัดหนองนกไข่ ประธานฝ่ายสงฆ์  ร่วมด้วย นายอภิชาต โพธิ์ถนอม รองนายก อบจ.สมุทรสาคร นายประสิทธิ์ อุ่นขจร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และ ประเพณี ประจำสภาอบจ.สมุทรสาคร ดร.ภูวกฤษ รุ่งทิวากรกิจ นายก อบต.หนองนกไข่ ผู้มีเกียรติ และพี่น้องประชาชนชาวตำบลหนองนกไข่ ที่เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการฯ ก่อนที่จะได้ช่วยกันลงมือห่อข้าวต้มมัดสามัคคีจำนวน 10,000 มัด

นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ได้กล่าวว่า โครงการที่ อบจ.สมุทรสาคร ได้ร่วมกับ พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นตำบลหนองนกไข่จัดขึ้นนี้ ก็เนื่องด้วยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์และการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้จัดทำโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสืบสานประเพณีห่อข้าวต้มมัดสามัคคีขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองในหมู่ ประชาชน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และประเพณีอันดีงามให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม

ขณะที่บรรยากาศของการห่อข้าวต้มมัดสามัคคีในปีนี้ ก็คึกคักกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ได้ทุเลาเบาบางลงแล้ว จึงทำให้พี่น้องประชาชนชาวตำบลหนองนกไข่ ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง และผู้ที่ต้องการจะมาร่วมสร้างบุญด้วยนั้น มาช่วยกันกวนข้าวเหนียว และห่อข้าวต้มมัดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีนี้ได้ใช้ข้าวเหนียวประมาณ 9 กระสอบ ห่อข้าวต้มมัดได้ทั้งหมดราว ๆ 10,000 มัด และในวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ก็จะนำข้าวต้มมัดสามัคคีทั้งหมดนี้ไปถวายเบื้องหน้าพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมกับไข่ต้มที่เป็นของถวายคู่กัน รวมถึงผลไม้นานาชนิดที่มาจากการปลูกของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่

 ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีความกล้าหาญกอบกู้เอกราชคืนสู่สยาม หลังรวบรวมกองกำลังเพื่อขับไล่กองทัพพม่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลัง การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทรงทำสงครามตลอดรัชสมัย เพื่อรวบรวมแผ่นดิน ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น ทรงมุ่นมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมและการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี เป็น“วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และถวายพระราชสมัญญานาม ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย

ขณะที่ประเพณีห่อข้าวต้มมัด ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อถึงวันที่ 27 ธันวาคมของทุกปี ชาวบ้านจะมาช่วยกันกวนข้าวเหนียวและห่อข้าวต้มมัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงความรักความสามัคคีกันเหมือนกับข้าวต้มมัด ที่มัดติดกันไว้ และนำไปใช้ในการประกอบพิธีบวงสรวง สักการะดวงพระวิญญาณขององค์พระเจ้าตากสินมหาราชในวันที่ 28 ธันวาคม หรือ “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” จนกลายเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี สืบต่อกันมากว่า 30 ปีแล้ว

Related Articles