ชาวประมงสมุทรสาคร ทวงคืนสัญญา เร่งรัฐซื้อเรือคืน

ชาวประมงสมุทรสาคร ทวงคืนสัญญา เร่งรัฐซื้อเรือคืน

ชาวประมงสมุทรสาคร ทวงคืนสัญญา เร่งรัฐซื้อเรือคืน

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 กลุ่มชาวประมงจังหวัดสมุทรสาครที่อยู่ในกลุ่ม 1007ลำทั่วประเทศ ที่ลงชื่อยื่นความประสงค์ขายเรือให้ภาครัฐ ได้มารวมตัวกันที่สมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร ริมเขื่อนหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร พร้อมชูป้ายที่มีข้อความแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ของชาวประมงที่จอดเรือเพื่อรอให้รัฐบาลมารับซื้อเรือคืนตั้งแต่ปี 2562 จนถึงวันนี้ภาครัฐก็ยังไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งๆที่เรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว รอเพียงขั้นตอนสุดท้ายก็คือเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อลงนามอนุมัติ แต่ตอนนี้เรื่องกลับเงียบหาย จนเรือหลายลำผุพังแทบจมหายไปในทะเล ซึ่งหากมองจากบริเวณริมเขื่อนหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครออกไปก็จะเห็นว่ามีเรือประมงหลายลำที่จอดนิ่งอยู่กับที่ และนั่นก็คือ เรือที่รอให้ภาครัฐมาซื้อคืน

นายศรชัย พันโพธิ์ทอง ชาวประมงในตำบลบางหญ้าแพรก ได้พูดถึงความเดือดร้อนของตนเองและกลุ่มเพื่อนชาวประมงที่ประสงค์จะขายเรือ ว่าตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนมากและมากขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ล่วงเลยไป ทั้งภาระหนี้สินที่ต้องชดใช้ และขาดเงินที่จะไปตั้งต้นทำอาชีพใหม่จึงมีการไปกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนเพื่อประกอบอาชีพไปก่อน จนมีดอกเบี้ยผูกพันมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลเร่งรับซื้อเรือคืนไปเพื่อนำเงินที่ได้จากการเยียวยาไปใช้บรรเทาหนี้สิน และเริ่มต้นอาชีพใหม่ เพราะเรือที่จอดไว้นี้ชาวประมงไม่หวังที่จะหันไปทำอาชีพนี้แล้ว และหากภาครัฐยังไม่มีคำตอบ ชาวประมงก็พร้อมที่จะยกระดับการขับเคลื่อนต่อไป

จากนั้นชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ได้เคลื่อนขบวนมายังศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยมอบหมายให้นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เป็นผู้ยื่นหนังสือผ่านนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ไปถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร และนายสกล ศักดิ์กำจร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้มารับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมงกว่า 50 คน ก่อนที่จะส่งตัวแทนขึ้นไปหารือกับทางหัวหน้าส่วนระดับจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง

นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร และนายศาวงษ์ จุ้ยเจริญ อุปนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ก็ได้ชี้แจงปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครให้ทราบถึงเหตุผลของการเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ เนื่องจากพี่น้องชาวประมงกังวลว่าเรื่องการรับซื้อเรือคืนจะล่าช้าหรือว่าถูกปัดทิ้ง เพราะภาครัฐยังไม่มีทีท่าว่าจะขับเคลื่อนต่อ และตอนนี้ชาวประมงจังหวัดอื่นก็มีการขับเคลื่อนเพื่อเร่งรัดต่อรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลหันมาใส่ใจโครงการฯ นี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง โดยระยะเร่งด่วนนี้รัฐอาจจะสนับสนุนงบลงมาก่อนซัก 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็ว่ากันไปตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้

ด้านนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฟังปัญหาของชาวประมงพร้อมกับจะนำหนังสือนั้นส่งต่อไปถึงรัฐบาลให้เร็วที่สุด สำหรับโครงการรับซื้อเรือคืน เป็นโครงการที่กรมประมงได้จัดทำโครงการนำเรือออกนอกระบบโดยการรับซื้อเรือประมงที่มีใบอนุญาตถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการด้านประมงที่ยั่งยืนของรัฐบาล และได้มีชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประสบปัญหาจากมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐ รวมถึงปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ตกต่ำ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ตลอดจนพื้นที่ทำกินที่ลดน้อยลง ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีผู้ประกอบการเรือประมง ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเมื่อปี 2562 จำนวน 97 ลำ ต่อมาในปลายปี 2565 มีผู้ยืนยันจะขายคืน 77 ลำ กระทั่งล่าสุดมีการยืนยันที่จะขายเรือคืนเป็นที่ชัดเจนแล้วจำนวน 65 ลำ คิดเป็นมูลค่าเงินเยียวยาที่ต้องได้รับประมาณ 209 ล้านบาท

Related Articles