สมุทรสาคร วางพวงมาลา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันปิยมหาราช

สมุทรสาคร วางพวงมาลา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันปิยมหาราช

สมุทรสาคร วางพวงมาลา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตุลาคม 2565 เวลา 08.30 น. นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา และกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีข้าราชการพลเรือน ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมพิธี ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ทยอยขึ้นวางพวงมาลาหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่าน ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้า เช่น ทรงยกเลิกระบบไพร่ ระบบทาส ทรงยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย ส่งเสริมการศึกษา โดยจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ ให้ราษฎรได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ทรงปฏิรูปการปกครองการบริหารออกเป็นกระทรวง จัดการปกครองหัวเมืองให้มีประสิทธิภาพ ทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเกษตร การอนามัย การสาธารณูปโภค มีการสร้างถนน ทางรถไฟ การใช้โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประเทศและประชาชนชาวไทย ทำให้ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนยิ่ง ประชาชนจึงร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระปิยมหาราช” หรือ “พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์”

สำหรับ จังหวัดสมุทรสาครนับว่าเป็นทรงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะที่ตำบลท่าฉลอม สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้พระราชทานจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของประเทศไทย หรือ วันท้องถิ่นไทยในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 ซึ่งถือเป็นการพระราชทานอำนาจให้พสกนิกรชาวสมุทรสาครได้ร่วมดูแลและพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเป็นครั้งแรก จนปรับเปลี่ยนมาเป็น อบต. เทศบาล และ อบจ. จวบจนปัจจุบัน

Related Articles