พบแรงงานเมียนมาร์ 93 คน ซุกตัวกับ AAC ผู้ว่าฯ เตรียมผลักดันกลับหวั่นซ้ำรอยผู้ป่วยโควิด-19

พบแรงงานเมียนมาร์ 93 คน ซุกตัวกับ AAC ผู้ว่าฯ เตรียมผลักดันกลับหวั่นซ้ำรอยผู้ป่วยโควิด-19

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่ State Quarantine ของประเทศเมียนมาร์ ตรวจพบผู้กักกันชาวเมียนมาร์ 1 ราย ซึ่งเดินทางจากประเทศไทยติดเชื้อโควิด -19 และจากการสอบสวนโรคมีข้อมูลว่าเคยมาพักอาศัยอยู่ที่กลุ่ม Aid Alliance Committee For Myanmar Workers (AAC) องค์กร NGO องค์กรหนึ่งว่า หลังจากเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ในการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับนายเย๊ ยัน อ่าว ทูตแรงงานประเทศเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย ปลัดจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร รองผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แรงงานจังหวัด  หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทน ผกก.สภ.เมืองสมุทรสาคร และผู้แทนสาธารณสุขจังหวัด ในประเด็นการแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องจากกรณี State Quarantine ของประเทศเมียนมาร์ ตรวจพบผู้กักกันชาวเมียนมาร์ 1 ราย ซึ่งเดินทางจากประเทศไทยติดเชื้อโควิด -19 และจากการสอบสวนโรคมีข้อมูลว่าเคยมาพักอาศัยอยู่ที่กลุ่ม Aid Alliance Committee For Myanmar Workers (AAC) องค์กร NGO นั้น เมื่อทราบว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทางจังหวัดสมุทรสาครก็รีบสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนโรคและดำเนินมาตรการตรวจโรคเชิงรุกแบบ Swap หรือการตรวจจากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก สำหรับผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว  ซึ่งแม้จะไม่พบเชื้อแต่เพื่อความมั่นใจ ทางจังหวัดยังได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ากักกันตัวไว้ที่ Local Quarantine ของจังหวัดด้วย

นายวีระศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ที่ตรวจพบเชื้อ State Quarantine ของประเทศเมียนมาร์ จำนวน 1 รายนั้น จากการตรวจสอบแล้วไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร แต่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เดินทางมาเยี่ยมญาติเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการสอบสวนโรคต่อไปว่า การติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วงไหนกันแน่เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องของความปลอดภัยโควิด-19 กลุ่มแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกันนอกจากจะนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจพบเชื้อเข้ากักตัวแล้ว  ยังได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงตรวจพื้นที่จุดพักพิงของ AAC ที่มีการนำคนต่างด้าวจากหลายพื้นที่มาพักอาศัย-ส่งต่อโดยไม่ถูกต้องเพราะไม่ผ่านกระบวนการสอบสวนโรค และมีความแออัดผิดสุขลักษณะ รวมจำนวน 93 คน ก็ได้ดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศเมียนมาร์ผ่านด่านห้วยยะอุ อ.แม่สอด จ.ตาก แล้ว จำนวน 18 คน คงเหลือ 75 คน ซึ่งได้ข้อสรุปดังนี้ ประการที่แรก แรงงานต่างด้าวจำนวน 40 คน ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สมุทรสาคร เตรียมส่งกลับประเทศในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นี้ โดยมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานประสานความช่วยเหลือคดีความตามกฏหมาย และเงินชดเชยจากนายจ้าง ส่วนทางจังหวัดสมุทรสาคร รับหน้าที่จัดเตรียมรถนำส่ง แต่ในระหว่างนี้ได้จัดที่พักและอาหาร ณ วัดแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร มีตำรวจสายตรวจเวรยามรักษาการณ์อย่างแน่นหนา,ประการที่สอง แรงงานต่างด้าวจำนวน 35 คน ทางสถานทูตเมียนมาร์ ขอความอนุเคราะห์จังหวัดสมุทรสาคร ชะลอการส่งกลับไป 15 วัน เพื่อตรวจสอบข้อมูลและสิทธิ์ตามกฏหมาย  ทั้งนี้ทางจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้เตรียมที่พักและการดูแลตามหลักมนุษยธรรม ไว้ 2 จุด คือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 15 คน และที่วัดแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 20 คน

นายวีระศักดิ์ฯ  กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่การประชุมหารือเสร็จสิ้นลง ทางทูตแรงงานเมียนมาร์ในนามผู้แทนเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย ได้แสดงความขอบคุณจังหวัดสมุทรสาครและรัฐบาลไทย ที่ประสานการช่วยเหลือและการป้องกันโรคฯ แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์เป็นอย่างดียิ่ง อีกทั้งยังรับประสานควบคุมไม่ให้กลุ่มองค์กร NGO ชาวเมียนมาร์ ทุกๆ กลุ่มนำคนมารวมตัวกันเช่นนี้อีก เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

ด้านแรงงานเมียนมาร์รายหนึ่งที่ยังคงพักพิงอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อรอการส่งตัวกลับประเทศ ภายใต้กระบวนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ฯ ก็บอกว่า ตนเองมาทำงานในประเทศไทยนานแล้ว โดยเข้ามาเป็นแรงงานที่จังหวัดราชบุรีก่อน จากนั้นเมื่อประมาณ 1 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมาก็มาเป็นแรงงานเชื่อมเหล็กในจังหวัดปทุมธานี แต่ทำงานไปแล้วไม่ได้ค่าแรง ทำให้ไม่มีเงินกินข้าว และจ่ายที่เช่าที่พักอาศัย จึงตัดสินใจมาขอความช่วยเหลือจากทาง AAC โดยหลังจากนี้ก็ต้องการที่จะให้รัฐบาลไทยช่วยส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง เพราะตนนั้นไม่สามารถที่จะอยู่ในประเทศไทยได้อีกเนื่องจากบัตรสีชมพูก็ถูกนายจ้างเก็บไว้ และยังไม่มีพาสปอร์ตอีกด้วย แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาทำงานมาก เนื่องจากได้ค่าแรงดี หากมีโอกาสก็จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยอีกครั้ง

ด้านเจ้าหน้าที่ของจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ในส่วนของแรงงานต่างด้าวชุดหลังจำนวน 35 คนที่รอเวลา 15 วันนั้น ส่วนใหญ่ประสงค์ที่จะขอเดินทางกลับประเทศเมียนมาร์ แต่เนื่องจากต้องดำเนินการเรื่องของค่าจ้าง หรือสิทธิ์ประกันสังคมให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน

Related Articles