กรมชลฯ จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง

กรมชลฯ จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง

กรมชลฯ จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีนายประวิน จ่าภา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา นายสากล ชลคีรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้มาร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินโครงการฯ แก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ที่เข้าร่วม

นายประวิน จ่าภา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง มีที่มาและความสำคัญ จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะการเกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ.2554 กรมชลประทานจึงได้หาแนวทางการบรรเทาปัญหาอุทกภัย โดยได้จัดทำแผนงานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งสิ้น 9 แผนงาน ซึ่งโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่างคลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานที่ 4 เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองคลองเจ้าเจ็ดออกสู่อ่าวไทยให้ได้มากที่สุด สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มจาก 52 เป็น 130 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดปริมาณระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนได้ 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บหรือระบายน้ำของแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย และได้มีผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุง โครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จกรกฎาคม 2560

นายประวินฯ กล่าวอีกว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ มีวัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งการบริหารจัดการน้ำหลากที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล และ/หรือปริมาณน้ำหลากบริเวณด้านเหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ที่จำเป็นต้องระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยระบายน้ำทิ้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยองค์ประกอบของโครงการจะเป็นงานปรับปรุง/ขุดลอกคลองระบายน้ำ จำนวน 19 คลอง ความยาวรวม 302.93 กิโลเมตร และ งานปรับปรุง/ออกแบบอาคารบังคับน้ำตามแนวคลอง จำนวน 26 แห่ง และสะพานรถยนต์ 1 แห่ง ซึ่งโครงการนี้ มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 จนถึงสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 720 วัน ขณะที่ในส่วนของการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการฯ นั้นก็เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงาน และสรุปโครงการขั้นออกแบบรายละเอียดเพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากกลุ่มเป้าหมายอันจะนำไปสู่การปรับปรุง การออกแบบรายละเอียดของโครงการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและความต้องการในพื้นที่

Related Articles