ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง (มหาชัย) สมุทรสาคร ประจำปี ๒๕๖๗

ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง (มหาชัย) สมุทรสาคร ประจำปี ๒๕๖๗
ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง (มหาชัย) สมุทรสาคร ประจำปี ๒๕๖๗
“เจ้าพ่อเสด็จแล้ว คุกเข่าแล้วรวย” เสียงศิษย์เจ้าพ่อร้องนำหน้าขบวนแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครจนเป็นประเพณีมากว่า ๗๐ ปี สำหรับปี ๒๕๖๗ คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฯ และจังหวัดสมุทรสาครกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ ณ บริเวณริมเขื่อนหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมหาชัย ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๖ มิถุนาย ๒๕๖๗ มีกำหนดการ ดังนี้
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. พิธีเปิดงาน มอบทุนสนับสนุนให้องค์กรการกุศล โรงพยาบาล สถาบันการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร
วันทึ่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. แห่เจ้าพ่อทั้งทางบก – ทางน้ำ ตลอดวัน
วันที่ ๑๔ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๗ ปิดทองสักการะพระพุทธรูป / องค์เจ้าพ่อหลักเมืองตลอดวัน
วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. พิธีไหว้คล้ายวันเกิดเจ้าพ่อหลักเมือง ประมูลขของมงคล
ตลอดงานมีมหรสพสมโภชน์ ดนตรี งิ้ว ๒ โรงประชัน การแสดงสิงโต มังกร ทุกวันใน เวลา ๑๘.๐๐ น. พร้อมมีร้านอาหารทะเลจำหน่ายบริเวณริมเขื่อนแม่น้ำท่าจีนตลอดงาน
ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เป็นรูปเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้โพธิ์ มีลักษณะคล้ายองค์พระสยามเทวาธิราช อยู่ในท่าประทับยืน แกะสลักลวดลายละเอียดงามวิจิตรแล้วปิดทองคำเปลวบริสุทธิ์ทับไปอีกชั้น มีความสูงประมาณ ๑ ศอกเศษ ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าหลักเมืองสมุทรสาคร เป็นที่เคารพสักการะของชาวสมุทรสาครและจังหวัดไกล้เคียง เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยเฉพาะประมงและคนไทยเชื้อสายจีนจะมีความเชื่อถือศรัทธามาก ก่อนออกเรือหาปลาจะต้องมีการจุดประทัดเป็นการเซ่นไหว้สักการะทุกครั้ง
ตามประวัตมีบันทึกว่า เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวบ้านเมืองท่าจีนพบแผ่นไม้เป็นรูปเทพารักษ์แกะสลักสวยงามลอยน้ำมาที่คลองลัดป้อมไกล้กับป้อมวิเชียรโชฎกไม่ไกลจากที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครในปัจจุบันมากนัก ชาวบ้านจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนตลิ่ง จากนั้นจึงสร้างเพิงหลังคามุงจากหลังเล็ก ๆ ให้ประชาชนที่ผ่านไปมาทั้งทางบกและทางน้ำได้สักการะบูชา เมื่อมีผู้มาบูชาบนบานสารกล่าวมากขึ้น และหลายคนประสบความสำเร็จดังใจปราถนาเป็นที่เลื่องลือของชาวบ้าน จึงพรัอมใจกันสร้างศาลเจ้าขนาดใหญ่กว่าเดิมตรงบริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ด้านหลังที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสาคร ภายในป้อมวิเชียรโชฎก
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ว่า “ศาลเทพเจ้าจอมเมือง” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมหาชัยมากกว่าชื่อพระราชทาน
การริเริ่มก่อสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่แทนหลังเดิมได้เกิดขึ้นเมื่อช่วง พ.ศ. ๒๔๖๔ ทางราชการได้สร้างที่ว่าการอำเภอเมืองหลังใหม่ เป็นอาคารไม้สองชั้น (เดิมชั้นเดียว) จึงเกิดทัศนวิสัยบดบังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งในขณะนั้นมีสภาพชำรุดทรุดโทรมแล้ว พระยาสาครคณาภิรักษ์ เจ้าเมืองสมุทรสาคร หลวงอนุรัฐนฤผดุง นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร และขุนสมุทรมณีรัตน์ (เม่งฮะ) ได้ร่วมกันขอรับบริจาคทุนทรัพย์จากพ่อค้าประชาชนเพื่อสร้างศาลเจ้าพ่อหลังใหม่ขึ้นทดแทน ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยแบบวิหาร ก่ออิฐถือปูนตามแบบแปลนที่ได้มาจากกรมศิลปากร สร้างขึ้นตรงบริเวณมุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของป้อมวิเชียรโชฎกหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสาครที่สร้างใหม่ แต่การก่อสร้างในครั้งนั้นยังไม่สำเร็จในคราวเดียวกันด้วยยังขาดช่อฟ้าและใบฎีกา ต่อมาอีก ๒ ปี ขุนสมุทรมณีรัตน์ กำนันตำบลท่าฉลอม ขุนเชิดมหาไชย (เป้า เจียมไชยศรี) กำนันตำบลมหาชัยและนายยงกุ่ย หทัยธรรม ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างศาลต่อจนแล้วเสร็จสมบูรณ์
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างศาลครั้งนี้มีนายจาด แนวสิงห์โต เป็นผู้รับจ้างในวงเงิน ๑,๘๐๐ บาท จัดทำช่อฟ้า ใบระกา สลักจั่ว ประดับกระจก ปั้นที่ปลายเสาและสร้างทุ่นท่าน้ำตลอดจนถนนหน้าศาล ส่วนแท่นบูชาเจ้าพ่อหลักเมืองจัดสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ โดยนายเทียม นางกิมเน้ย เทียมผาสุข ชาวประมงตำบลท่าฉลอมเป็นผู้จ้างนายกวง แซ่โค๊ว ช่างจีนเป็นผู้แกะสลักและประดิษฐานภายในศาล
ต่อมากระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งขุนสมุทรมณีรัตน์ เป็นผู้จ้ดการดูแลศาลและได้แต่งตั้งคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร มีปลัดจังหวัดสมุทรสาครเป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการฝ่ายข้าราชการ พ่อค้า คหบดีในจังหวัดสมุทรสาครสำหรับควบคุมดูแลกิจกรรมของศาลเจ้า
ต่อมาในปี ๒๕๒๔ ม.ล.ชินชัย กำภู ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการก่อสร้าง “ศาลหลักเมือง” ขึ้นที่ด้านหลัง “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร” แห่งนี้ แล้วอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองไปประดิษฐานที่เดียวกันกับเสาหลักเมือง แต่ปรากฏภายหลังว่าประชาชนไม่มีความสะดวกในการสักการะบูชาหรือจัดกิจกรรม คณะกรรมการและประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาครจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่ในที่เดิมและอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาประดิษฐานยังศ่าลใหม่ซึ่งคือศาลในปัจจุบันโดยสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ มีลักษณะเป็นอาคารเก๋งจีน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายแบบศิลปกรรมจีนอย่างประณีตสวยงาม มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับการการประกอบพิธีสักการะเซ่นไหว้ของประชาชนจำนวนมาก
ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง ๒๕๐๖ โดยจัดงานและแห่เจ้าพ่อในวันเดียวคือวันที่ ๑๓ เมษายนซึ่งเป็นช่วงสงกรานต์ โดยตั้งขบวนแห่หน้าธนาคารนครหลวงไทยสาขามหาชัย (ปัจจุบันคือธนาคารธนชาติ) แห่รอบตลาดมหาชัยและไม่มีมหรสพใด ๆ
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๒๓ ได้ปรับปรุงเส้นทางแห่ใหม่โดยเริ่มขบวนแห่ที่บริเวณสะพานปลาเก่าไปถึงท้ายตลาดและวนกลับมายังศาลและกำหนดวันจัดงานและกำหนดจัดงานเป็น ๓ วันคือวันที่ ๙ – ๑๑ เมษายน มีมหรสพภาพยนตร์และงิ้วสมโภชน์
พ.ศ. ๒๕๒๔ มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางแห่ใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเปลี่ยนจำนวนวันงานเป็น ๕ วัน โดยเริ่มจากวันที่ ๗ – ๑๑ เดือน ๕ ตามปฏิทินจีนซึ่งจะตรงกับเดือนมิถุนายนตามปฏิทินไทย สาเหตุสำคัญ ที่เปลี่ยนแปลงนี้เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเจ้าพ่อหลักเมืองฯ และการจัดงานเดิมในช่วงสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการและโรงงานส่วนใหญ่หยุดงาน คนงานส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหววัด ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมขบวนแห่มีจำนวนน้อย
ตั้งแต่นั้นมาได้มีการแห่ทางน้ำโดยเจ้าของเรือประมงที่ศัทธาและเคารพนับถือได้แสดงความจำนงขอนำเรือประมงร่วมขบวนด้วย ทั้งนี้เมื่อแห่รอบตลาดฝั่งมหาชัยแล้วก็จะอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหลักเมืองประทับเรือประมงซึ่งประดับธงทิวอย่างสวยงามแห่ไปตามแม่น้ำท่าจีนจากฝั่งมหาชัยไปยังฝั่งท่าฉลอม โดยขึ้นบก ณ บริเวณวัดแหลมสุวรรณาราม จากนั้นแห่ไปตามถนนถวายจนถึงวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) แล้วอัญเชิญกลับมาฝั่งมหาชัยขึ้นที่ท่าเรือสะพานปลาสมุทรสาคร สุดท้ายจะอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเข้าประทับที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา สรงน้ำและปืดทองตลอดงาน

ความศรัทธาและความเชื่อถือของประชาชนทุกคน จึงมีผู้คนมากมายมาร่วมงานประจำปีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร คณะกรรมการจัดงานได้จัดให้มีการผัดหมี่มหามงคลแจกให้ประชาชนรับประทานฟรีในวันคล้ายวันเกิดของเจ้าพ่อทุกปี (วันพิธีไหว้)

เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร จึงเป็นศูนย์รวมใจ เป็นที่พึ่งพาทางใจของประชาชนทั่วไปทุกคน ดังคำขวัญที่ว่า “เจ้าพ่อหลักเมืองเหมือนหลักชัย รวมนำชัยให้เจริญรุ่งเรือง
รายได้ที่ได้รับบริจาคจากประชาชน นำไปสนับสนุนกิจการสาธารณประโยชน์ต่อจังหวัดและประเทศทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาลและอื่น ๆ มูลค่าปีละนับล้านบาท
คณะกรรมการบริหารศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฯ มีนายกำธร มงคลตรีลีกษณ์ เป็นประธานคณะกรรมการ
นายสมชาย สันตวิริยะพันธ์ เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อฯ
นายประพจน์ พรพจนีย์ เป็นผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าพ่อฯ
โดย ๒ ตำแหน่งนี้ แต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย
CR ข้อมูลข่าว-ภาพ  นายปรีชา ฐินากร

Related Articles