สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จับมือ กกร.เตรียมยื่นคัดค้านปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จับมือ กกร.เตรียมยื่นคัดค้านปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จับมือ กกร.เตรียมยื่นคัดค้านปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 15.00 น. ที่ ห้องประชุมชั้น 2 บริษัท เซ็นเตอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ดร.อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร วาระปี 2567 – 2569 ครั้งที่ 3/2567 โดยมี ดร.อัจฉรีย์ งามพร้อมสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นางอุบลรัตน์ โสตถีวรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน บริษัทเซ็นเตอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด รองประธานสภาฯ และคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมประชุม 

โดยทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีประเด็นสำคัญที่ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลางทำการหารือและขอความเห็นจากที่ประชุมอีกครั้งคือ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทในห้วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดสมุทรสาคร (กกร.สค.) อันประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และ ชมรมธนาคารจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะตัวแทนของสถานประกอบการทุกขนาดและทุกประเภทกิจการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ไม่เห็นด้วยและเตรียมที่จะยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

ดร.อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามประกาศของคณะรัฐมนตรีนั้น ทาง กกร.สมุทรสาคร มีความเห็นว่าปัญหานี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันผลักดันคัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยจะส่งหนังสือคัดค้านผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนเหตุผลก็เนื่องด้วย 1. การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีความซ้ำซ้อน ด้วยในปี 2567 นี้ มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้วถึงสองครั้ง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ มีผลกระทบต่อเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ, 2.ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภาระในทุน ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของจังหวัด ที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านค่าครองชีพ ระดับราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้ เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ, 3. ผลกระทบต่อการจ้างงานและการลงทุน เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาพรวม โดยอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิต หรือชะลอการลงทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้,4. ผลกระทบต่อค่าครองชีพ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผู้ประกอบอาชีพอิสระขนาดเล็ก ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ทาง กกร.ก็ได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลด้วยว่า ทาง กกร.สมุทรสาคร เห็นด้วยกับการสนับสนุนยกระดับรายได้ของแรงงาน แต่ควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity), การปรับขึ้นค่าจ้างตามหลักการที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรยึดหลักการที่เป็นธรรมและคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง โดยอาจพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย

Related Articles