ชาวสวนกล้วยไม้วอนนายกอบจ.สมุทรสาครช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่

ชาวสวนกล้วยไม้วอนนายกอบจ.สมุทรสาครช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่

วันที่ 11 ธันวาคม 2562  เวลา 08.30 น. นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร พร้อมด้วย นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายอภิชาต โพธิ์ถนอม รองนายก อบจ.สมุทรสาคร ได้เปิดบ้านหารือร่วมกับนายพิษณุ สำรวยรื่น กำนันตำบลบางยาง นายเศกสรรค์ ฮีสวัสดิ์ นายก อบต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และตัวแทนชาวสวนกล้วยไม้จากตำบลหนองนกไข่ ตำบลบางยาง และตำบลท่าไม้รวมเกือบ 50 คน ที่กำลังประสบปัญหาภาวะน้ำเค็มจากทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำท่าจีนอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำในแม่น้ำท่าจีนมาใช้เพื่อการทำสวนกล้วยไม้ได้โดยทางตัวแทนชาวสวนกล้วยไม้ ต้องการขอให้นายก อบจ.สมุทรสาคร ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการสนับสนุนเครื่องจักรกลในการขุดลอกร่องน้ำ และการนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปหารือร่วมกับทางสำนักงานชลประทานที่ 13 (กาญจนบุรี) เพื่อปล่อยน้ำจืดลงมาผลักดันน้ำเค็มช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนกล้วยไม้ทางซีกตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน

นายพิษณุ สำรวยรื่น กำนันตำบลบางยาง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำท่าจีน จนเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ทั้ง 3 ตำบลของจังหวัดสมุทรสาครนั้น เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งชาวสวนฯ ได้ทำการวัดค่าความเค็มของน้ำทุกวัน และพบว่าน้ำเค็มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จน ณ ขณะนี้ไม่สามารถที่จะนำน้ำในแม่น้ำท่าจีนมาใช้รดกล้วยไม้ได้แล้ว เพราะล่าสุดจากการวัดค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำท่าจีน ที่บริเวณหน้าวัดดอนไก่ดี ต.ตลาดกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร (เมื่อเช้าของวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ) วัดได้สูงเกิน 10,000 ไมโครซีเมนต์ต่อเซนติเมตร (EC) ซึ่งเป็นค่าความเค็มสูงเกินกว่าที่จะนำมาใช้รดกล้วยไม้ได้ เพราะค่าความเค็มปกติของน้ำที่สามารถนำมารดกล้วยไม้ได้นั้น ไม่ควรเกิน 750 ไมโครซีเมนต์ต่อเซนติเมตร (EC) แต่ถ้าสูงกว่านี้บ้างเล็กน้อยก็ยังพอนำมาใช้ได้ แต่ก็ต้องมีการนำเข้าไปพักไว้ในบ่อก่อน ไม่สามารถใช้ได้ทันที ส่วนพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้คือ หมู่ที่ 11 และ หมู่ที่ 12 ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

นายพิษณุฯ ยังบอกอีกว่า สำหรับพื้นที่สวนกล้วยไม้ใน 3 ตำบลฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร คือ ต.บางยาง,ต.หนองนกไข่ และ ต.ท่าไม้ ที่ต้องประสบกับผลกระทบอันเนื่องมาจากน้ำเค็มรุกรุนแรงในปี 2562 และคาดว่าจะต่อเนื่องยาวไปอีก 6 เดือนนั้น มีด้วยกันทั้งหมดกว่า 1,000 ไร่ ขณะที่สวนกล้วยไม้ทางซีกตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนนั้น ไม่ประสบกับปัญหาน้ำเค็มรุก เนื่องจากมีน้ำจืดจากคลองจินดา จ.นครปฐม ที่รับน้ำมาจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรีเข้ามาช่วย แต่ทางซีกตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำท่าจีนทำเกษตรกรรมโดยตรง เมื่อน้ำเค็มไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยการเร่งหาน้ำจืดมาช่วยในการผลักดันน้ำเค็มให้ถอยร่นออกไปหรือจือจางลง จึงจะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และอีกอย่างหนึ่งคือ การทำประตู และคันกั้นน้ำเค็มจากแม่น้ำท่าจีน ไม่ให้รุกเข้ามาในพื้นที่ทำการเกษตรและคลองซอยที่ยังไม่มีประตูกั้นปากคลองอีกกว่า 10 แห่ง ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทาง อบจ.สมุทรสาคร ในการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องจักร และงบประมาณฯ ต่อไป

ด้านนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนของนายก อบจ.สมุทรสาคร ก็ได้บอกว่า ปัญหาน้ำเค็มนั้น ไม่ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ และไม่สามารถนำงบประมาณฉุกเฉินจากทางจังหวัดหรือ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ลงมาช่วยเหลือได้ แต่ก็เป็นปัญหาที่ปล่อยไว้นานไม่ได้ เพราะยิ่งปล่อยไว้นานก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายจากชาวสวนกล้วยไม้เป็นอย่างมาก ดังนั้นทาง อบจ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ในบางแนวทาง จึงได้ร่วมกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ มาหารือร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหานี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้อย่างเร็วที่สุด โดยหลังจากที่รับทราบปัญหาของพี่น้องชาวสวนกล้วยไม้ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ก็ได้ติดตามสถานการณ์เรื่อยมา แล้วพบว่าปัญหาน้ำเค็มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ชาวสวนกล้วยไม้ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ต้องประสบกับปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำเค็มรุกรุนแรงถึง 4 ครั้งแล้ว มีเพียงแค่ในปี 2561 เท่านั้น ที่ไม่เกิดปัญหาน้ำเค็มเช่นนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ในวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคมนี้ ตนเองซึ่งได้รับมอบหมายจากนายก อบจ.สมุทรสาคร พร้อมด้วยตัวแทนพี่น้องชาวสวนกล้วยไม้ที่เดือดร้อน ก็จะไปพบและหารือกับทางผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 13 (กาญจนบุรี) และ สำนักชลประทานที่ 11 เพื่อขอให้ช่วยปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ที่ในปีนี้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะปล่อยลงมาช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำท่าจีนได้ พร้อมกันนี้ทาง อบจ.สมุทรสาคร ก็จะเร่งตรวจสอบบ่อบาดาลในพื้นที่ 3 ตำบล เพื่อให้มีความพร้อมใช้งานในการเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้รดกล้วยไม้ รวมทั้งจะได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรทำคันดินกั้นน้ำ ตามที่เกษตรกรร้องขอและตามอำนาจหน้าที่ ที่ทาง อบจ.สมุทรสาคร จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือได้

นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวก็จะต้องมีการหารือร่วมกับพี่น้องเกษตรกรสวนกล้วยไม้ และผู้นำท้องถิ่นในการขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมชลประทาน นำมาก่อสร้างประตูระบายน้ำตามคลองซอยที่เชื่อมต่อแม่น้ำท่าจีน เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เพราะเชื่อได้ว่าสถานการณ์น้ำเค็มนั้น จะยังคงเกิดขึ้นในปีถัดๆไปอีกแน่นอน.

Related Articles