วันที่ 2 มีนาคม 2563 เวลา 09.00 น. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีถวายพระราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย โดยมีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร อัยการ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ส่วนราชการ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะ ที่ลานสาครบุรี ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงเล็งเห็นและให้ความสำคัญแก่วงการช่างฝีมือด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน พิธีเปิดการแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ สโมสรโรตารีกรุงเทพฯใต้ ณ ลุมพินีสถาน โดยกรมแรงงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ และทรงมีพระราชดำรัสความว่า “ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคนเพราะตลอดชีวิตของคนเราเราต้องอาศัยและใช้บริการสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ”จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้ เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพราะนั่นหมายถึงคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมาถึง 50 ปีแล้ว ยังคงทันสมัย และนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งจังหวัดสมุทรสาคร ได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือพัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้าน การผลิตและบริการ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในอาเซียนและประชาคมโลก
พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแล้ว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ยังคงสนพระราชหฤทัยในงานช่างอย่างสม่ำเสมอ และทรงใช้ทักษะและความถนัด ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ด้วยพระองค์เองเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่สร้างชื่อเสียงและคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ อาทิ กังหันน้าชัยพัฒนาการต่อเรือใบเล็กลงแข่งขันกีฬาแหลมทอง ในปี 2510 กระทั่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงแรงงาน เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” โดยตั้งปณิธานว่า จะขอยึดถือพระองค์เป็นแบบอย่าง และแรงบันดาลใจ ในการดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานและทรัพยากรบุคคล ต่อไป