มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชาติพันธ์ุมอญ”

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชาติพันธ์ุมอญ”

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชาติพันธ์ุมอญ”

วิถีไทยรามัญนั้นท้องถิ่น            อพยพมาอยู่กินถวิลหลัง

ทั้งปากลัดสามโคกมากมายจัง    ที่เด่นดังประเพณีนี่แหละมอญ

ภูมิลำเนาอยู่อาศัยมีหลายแห่ง    ทั้งเจ็ดริ้วอำแพงสุนัขหอน

บางน้ำวนบางพลีนี่ก็มอญ           บางกระเจ้าสีคตย้อนไปท่าทราย

เรือนไทยมอญใต้ถุนสูงรับลม      นับถือผีสั่งสมสืบทอดหมาย

สไบปักอัตลักษณ์ใช้ห่มกาย       โลงมอญลายวิจิตรพิสดาร

ทะแยมอญร้องรำพร้อมทำท่า      หนุ่มสาวเล่นสะบ้าสนุกสนาน

สานเสื่อกกรามัญแท้แต่โบราณ    ปรงทะเลผักพื้นบ้านอาหารมอญ

ที่มา : นายพยุง ผ่องสุขสวัสดิ์ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านและภาษา จังหวัดสมุทรสาคร)

มอญ เป็นชนชาติแรก ๆ ที่มีอารยธรรมสูงในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมอญไม่มีประเทศปกครองตนเอง แต่อารยธรรมด้านต่างๆ เช่น ภาษา ศาสนา สถาปัตยกรรม วรรณกรรมกฏหมาย นาถศิลป์ และดนตรี ล้วนส่งอิทธิพลต่อชนชาติต่างๆ ในภูมิภาค ถิ่นฐานเดิมของมอญอยู่ในแถบดินแดนอินเดียตอนใต้ในปัจจุบัน จากหลักฐานการเรียกชื่อชนชาติว่า “ตะเลง” ซึ่งจะใช้เรียกคนที่มาจากอินเดียตะวันออกโดยสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ตะลิงคนะ อันหมายถึงแคว้นกลิงคะด้านชายฝั่งตะวันออกของอนุทวีปอินเดียแสดงถึงความสัมพันธ์ของชาวมอญกับชาวแคว้นกลิงคะ สอดคล้องกับตำนานของมอญที่ตกทอดอยู่ในบทเพลงที่กล่าวถึงมอญ ๓ กลุ่ม คือ “มอญเติง” อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดีมาจากลุ่มน้ำคงคา “มอญเตี๊ยะ” อาศัยอยู่ในเมืองพะสิมมาจากแคว้นกลิงคะ “มอญญะ” อาศัยอยู่ในเมืองมะละแหม่ง มาจากปากแม่น้ำโคธาวารี นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่าถิ่นฐานเดิมของมอญอยู่ทางตะวันตกของจีน เนื่องจากเป็นถิ่นฐานของชนเผ่ามองโกลอยด์ และแหล่งกำเนิดของภาษาตระกูลมอญ-เขมร (สุภรณ์ โอเจริญ, ๒๕๔๑) อาณาจักรมอญในอดีตอยู่ทางตอนใต้ เป็นเมืองท่าชายทะเล ทำการค้าขายกับต่างชาติที่มีความมั่งคั่งรุ่งเรือง ในขณะที่อาณาจักรพม่าอยู่ทางตอนเหนือมีอารยธรรมที่ต่ำกว่า ที่สำคัญไม่มีทางออกทะเล ความจำเป็นของพม่าคือการโจมตีมอญเพื่อยึดครองแหล่งทรัพยากรต้องการอารยธรรม และหาทางออกสู่ทะเล มอญกับพม่าจึงทำศึกสงครามกันหลายต่อหลายครั้งผลักกันแพ้ผลักกันชนะอยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่มอญมักจะตกอยู่ใต้อำนาจพม่า (สุภรณ์ โอเจริญ, ๒๕๔๑) สงครามครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทำให้มอญสูญเสียเอกราชแก่พม่ามาจนถึงทุกวันนี้ สงครามครั้งนั้นเป็นสงครามที่รุนแรง ชาวมอญบางส่วนได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย ทุกครั้งที่มีการอพยพจะมีกษัตริย์หรือขุนนางมอญชั้นสูงเป็นหัวหน้า และมีใบบอกเข้ามาล่วงหน้า เท่าที่มีการบันทึกไว้ทั้งสิ้น ๙ ครั้ง นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๑๒-๒๑๓๓) เป็นต้นมา จนกระทั่งครั้งสุดท้าย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๕๘) ทุกครั้งพระมหากษัตริย์ไทยมักโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างบ้านเรือนและที่ทำกินใกล้พระนคร เช่น พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ เป็นต้น ตั้งหัวหน้าดูแลปกครองกันเอง ส่วนขุนนางที่รับราชการมาแต่เดิมในเมืองมอญโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่งเดิม ต่อมาเมื่อที่ดินทำกินคับแคบ ประกอบกับการเดินทางค้นพบที่ทำกินลู่ทางการค้าใหม่ จึงเกิดชุมชนมอญขึ้นหลายแห่ง ปัจจุบันมีชุมชนมอญกระจายอยู่ทั้งสิ้น ๓๗ จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำภาคกลาง และมีจำนวนไม่มากที่อยู่ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ ตลอดจนภาคใต้ของประเทศไทย

ชุมชนมอญในจังหวัดสมุทรสาคร จำแนกตามความแตกต่างของประวัติความเป็นมา สามารถแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ

กลุ่มแถบตำบลบ้านเกาะและท่าทราย คนมอญเหล่านี้ไม่มีหลักฐานระยะเวลาการตั้งชุมชนที่ชัดเจนแต่เชื่อได้ว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มแถบตำบลมหาชัยและย่านสองฝั่งของคลองสุนัขหอน (อันได้แก่ ตำบลท่าจีน บางกระเจ้า และบ้านบ่อ) ชุมชนมอญกลุ่มนี้เกิดขึ้นในราวสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เนื่องจากโปรดเกล้าฯ ให้มอญจากเมืองพระประแดงมาสร้างป้อมวิเชียรโชฎกพร้อมทั้งให้ดูแลป้อม และขุดคลองสุนัขหอน ภายหลังจากการขุดคลองเสร็จได้พากันตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่ริมคลองสุนัขหอนทั้งสองฝั่งไม่ได้โยกย้ายออกไป

ศูนย์กลางชุมชนมอญเริ่มแรกในจังหวัดสมุทรสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมอญกลุ่มดั้งเดิมที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่พิสูจน์ได้ด้วยความเก่าแก่ของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมมอญที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อเทียบเคียงวิถีชีวิตกับผู้คนในถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมตามที่บรรพชนได้จดบันทึกกันไว้ นั่นคือที่เมืองมะละแหม่ง เมืองมอญ (ประเทศเมียนมา) ที่มีรูปแบบวิถีชีวิตใกล้เคียงและสอดคล้องกันอย่างมาก ทว่ามีความแตกต่างจากชุนชนมอญจังหวัดอื่นๆ ในเมืองไทยหลายประการ ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป โดยมากจะรับรู้ว่ามีคนมอญอยู่ที่พระประแดง สามโคก และปากเกร็ด เนื่องจากประวัติศาสตร์ไทยระบุชัดว่า ชุมชนมอญเหล่านี้อพยพโดยมีใบบอกล่วงหน้า พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพออกไปรับและจัดสถานที่ให้อยู่อาศัยอย่างเป็นทางการ แต่มอญในจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นกลุ่มดั้งเดิมนั้น คาดว่าอพยพมาจำนวนไม่มาก แล้วค่อยรวมตัวกันภายหลังหรืออาจเข้ามาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ บันทึกของชาวมอญระบุว่า คนมอญในจังหวัดสมุทรสาครน่าจะอพยพเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นมอญกลุ่มแรกๆ ที่ไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากมอญในแถบจังหวัดสมุทรสาครส่วนหนึ่งอพยพมาจากเมืองมะละแหม่งซึ่งมีชายแดนติดต่อกัน มีเพียงเทือกเขาตะนาวศรีกั้นกลาง จึงมีการอพยพเข้ามาครั้งละเล็กละน้อยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเมื่อมีพื้นที่อยู่อาศัยคับแคบลงก็มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปตามลุ่มแม่น้ำแม่กลองมีชุมชนมอญเรียงรายตามเส้นทางสายน้ำนี้ ตั้งแต่กาญจนบุรี ราชบุรี ตลอดจนปากแม่น้ำแม่กลองในจังหวัดสมุทรสงคราม และยังมีคลองสุนัขหอนเชื่อมกับชุมชนมอญปากแม่น้ำแม่กลอง ถึงชุมชนมอญปากแม่น้ำท่าจีน นั่นคือ แถบจังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน

“เถระรูปป่อดต็อย” หนังสือมอญที่พิมพ์ในเมืองมอญ (ประเทศเมียนมา) ได้รวบรวมประวัติพระเถระธรรมยุติกนิกายของมอญ (มอญเมืองมอญประเทศเมียนมา เรียกว่า นิกายมหาเย็น) ระบุว่า ผู้ที่นำพระพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายจากเมืองไทยไปเผยแผ่ที่เมืองมอญ คือ พระไตรสรณธัช (เย็น) โดยระบุว่า “ท่านมหาเย็นเป็นผู้สถาปนาธรรมยุติกนิกายในเมืองมอญ เมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันพฤหัสบดี ปีจุลศักราช ๑๒๐๓ (พ.ศ.๒๓๘๔) ท่านได้ถือกำเนิดในหมู่บ้านมอญ ชื่อบ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร…” พระอาจารย์เย็นอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค มีความเชี่ยวชาญในภาษามอญและบาลี มีลูกศิษย์ศึกษาในสำนักเรียนของท่านเป็นจำนวนมาก ภายหลังได้ลาสิขา และเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เกิดแต่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ธิดาเจ้าเมืองพระประแดง) เป็นเวลา ๑ ปี จากนั้นได้เดินทางไปเมืองมอญเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ จนเบื่อหน่ายวิสัยฆราวาส จึงได้อุปสมบทอีกครั้งที่นั่น และได้นำ “ธรรมยุติกนิกาย” ไปเผยแผ่และได้สร้างวัดมอญธรรมยุติ หรือ “วัดมหาเย็น” จำนวน ๕๒ วัด (ปัจจุบันในประเทศเมียนมามีวัดมอญธรรมยุติทั้งสิ้น ๘๑ วัด) เมื่อพิจารณาจากปีที่อาจารย์เย็นเกิด คือปี พ.ศ.๒๓๘๔ และเป็นบุตรคนที่ ๒ ของครอบครัวแล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าครอบครัวอาจารย์เย็นคงได้ตั้งรกรากขึ้นที่บ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเวลาล่วงมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ ปี

กรมการศาสนายังได้ระบุถึงวัดมอญที่สำคัญในตำบลบ้านเกาะ คือ วัดบางปลา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ และวัดเกาะ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ สอดคล้องกับกรมศิลปากรที่ระบุว่า อุโบสถวัดเกาะมีรูปแบบสถาปัตยกรรม การตกแต่ง รวมทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องยืนในอุโบสถ เป็นศิลปะแบบมอญ สมัยอยุธยาตอนปลาย แม้หลักฐานที่กล่าวถึงการเข้ามาของมอญในจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงกรณีเดียวที่กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้สร้างป้อมวิเชียรโชฎกและขุดคลองสุนัขหอน และให้ยกครัวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) จากพระประแดงไปทำมาหากินและอยู่ดูแลป้อมวิเชียรโชฎกที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ อย่างไรก็ตาม ประวัติของวัดป้อมวิเชียรโชติการาม ตำบลมหาชัย ซึ่งตั้งอยู่ติดกับป้อมวิเชียรโชฎกนั้น กรมศาสนาระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า วัดแห่งนี้มีมาก่อนการสร้างป้อมวิเชียรโชฎก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ (ใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของวัดบางปลาและวัดเกาะ วัดป้อมวิเชียรโชติการามจึงอาจเป็นวัดที่สร้างโดยคนมอญหรือไม่ใช่ก็ได้) แต่ภายหลังเมื่อมีคนมอญเข้ามาอาศัยอยู่โดยรอบจึงอาจได้ช่วยกันบูรณะวัดร้างแห่งนี้ขึ้น โดยใช้วัดแห่งนี้ในการอุปสมบทลูกหลานและประกอบพิธีกรรมสืบต่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด วัดป้อมวิเชียรโชติการามจึงกลายเป็นวัดมอญในที่สุด (องค์ บรรจุน, ๒๕๔๘ก) จะพบได้ว่าคนมอญ ๒ กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันทั้งความเป็นมาและรูปแบบวัฒนธรรม ดังที่ผู้สูงอายุในตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทรายยืนยันว่า ไม่มีใครมีญาติพี่น้องอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ต่างกับชาวมอญบ้านบางกระดี่บางตระกูลที่เมื่อถึงพิธีแต่งงานจะต้องไปทำพิธี “ชักอะโลน” นั่นคือการบอกกล่าววิญญาณบรรพชนยังศาลในหมู่บ้านดั้งเดิม ที่แสดงให้เห็นว่าคนมอญบางกระดี่บางส่วนมีรากเหง้าร่วมกันกับคนมอญปทุมธานี นอกจากนี้ คนมอญในจังหวัดสมุทรสาครกลุ่มดั้งเดิม (รวมทั้งมอญกลุ่มนี้ที่อพยพไปตั้งรกรากในจังหวัดอื่นๆ เช่น ไทรน้อย บางเลน บางขุนเทียน หนองจอก ลาดกระบัง บางน้ำเปรี้ยว) ยังมีการนับถือสืบทอดผีผ่านลูกชายคนเล็กเช่นเดียวกับชุมชนมอญหมู่บ้าน

กะมาวักในเมืองมะละแหม่ง ต่างจากมอญชุมชนอื่นๆของไทย จึงน่าเชื่อได้ว่า มอญในแถบสองตำบลของจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นมอญกลุ่มดั้งเดิมนี้อพยพมาจากหมู่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่งในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงช่วงกรุงธนบุรีกับอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นมอญที่อพยพมาเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญจากเมืองพระประแดงสมุทรปราการ เข้ามาขุดลอกคลองสุนัขหอน สร้างป้อมวิเชียรโชฎกและอยู่ดูแลป้อมเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ และแม้ว่ามอญ ๒ กลุ่มนี้จะมีประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่การอยู่อาศัยใกล้ชิดจึงได้เกิดการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมจนเกิดความกลมกลืนกัน อาจแตกต่างบ้างในเรื่องของความเป็นมา สำเนียงภาษาการพูด และความเชื่อในเรื่องของผีบรรพชน ชาวมอญมีอารยธรรมเก่าแก่ยาวนานโดยเฉพาะชาวมอญที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมากว่า ๒๐๐ ปีได้ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของตนเข้ากับท้องถิ่น และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมจนมีแบบแผนทางศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน และสั่งสมสืบทอดภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าอันหลากหลายจากอดีตจวบจนปัจจุบัน…

 

ดร.สุนทร วัฒนาพร

ประธานกิตติมศักดิ์สภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสาคร /เรียบเรียง

Related Articles