“ต้มยำปลาทูโบราณ” 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร

“ต้มยำปลาทูโบราณ” 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร

“ต้มยำปลาทูโบราณ” 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร

ในสมัยอดีตของคนจังหวัดสมุทรสาคร ถือว่า “ต้มยำปลาทูสูตรโบราณ” เป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย มีวิธีทำไม่ยุ่งยาก ใช่เพียงแค่มะขามเปียก (ส้มมะขาม) ปรุงรสด้วยเกลือทะเลและพริกสักเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติทานกับข้าวสวยได้อย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งเป็นสูตรของชาวประมงพื้นถิ่น เป็นเมนูประจำเรือโป๊ะ และชาวบ้านแถบชายทะเลของจังหวัดสมุทรสาครนิยมทำรับประทานกันในครอบครัว เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่หาง่ายและราคาไม่แพง ปัจจุบันเนื่องจากมีความนิยมของการดูแลสุขภาพ จึงใส่เครื่องต้มยำซึ่งเป็นพืชสมุนไพรริมรั้วคู่ครัวของคนไทย ได้แก่ หอมแดง ข่า ไคร้ ใบมะกรูด เพิ่มความหอมและความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค

รับประทานปลาทูต้มยำจะมีอายุยืนนาน เนื่องจากเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงและไขมันต่ำ ดีต่อสุขภาพ รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย หารับประทานได้ง่ายในจังหวัดสมุทรสาคร

หมายเหตุ โป๊ะ ถือเป็นอุปกรณ์จับปลาแบบพื้นบ้านที่สำคัญมากในอดีต โดยจะใช้ไม้ไผ่มาสร้างโดยล้อมให้เป็นวงกลม ตั้งอยู่กับที่ มีปากประตูโป๊ะเป็นช่องให้ปลาทูเข้า ข้างๆปากประตูจะมีไม้ปักไปยาวเหยียดทั้งสองด้านเพื่อให้ปลาว่ายเลียบเลาะเข้ามาที่ประตูโป๊ะเรียกว่าปีกโป๊ะ หลังจากนั้นชาวประมงก็จะใช้อวนล้อมและดึงปลาขึ้นมา ปลาที่ดักจับด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้ จึงเรียกว่า ปลาทูโป๊ะ ที่หลายคนเชื่อว่าอร่อยกว่าปลาทูที่ดักจับด้วยวิธีอื่น เพราะเป็นการจับที่ละมุนละม่อม เนื้อไม่ช้ำ และมีความสดอร่อย

ปลาทูโป๊ะ นับว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านชั้นยอดในการทำประมงแบบดั้งเดิมได้ปลาทูคุณภาพสูง รสชาติอร่อยและก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

-ปลาทู จำนวน ๕๐๐ กรัม

-น้ำเปล่า จำนวน ๓๐๐ กรัม

-น้ำปลา จำนวน ๑ ช้อนโต๊ะ

-ดอกเกลือ (เล็กน้อย)

-น้ำตาลทราย (ไม่ฟอกสี)

-ตะไคร้ จำนวน ๑ ต้น

-ใบมะกรูด จำนวน ๓-๔ ใบ

-หอมแดง จำนวน ๑-๒ หัว

-พริกขี้หนูสวน

-ผักชี

-ใบกะเพรา

ขั้นตอนการปรุง/เคล็ดลับการปรุง

ต้มน้ำให้เดือด ใส่ตะไคร้ ใบมะกรูด และหอมแดง ประมาณ ๑ – ๒ นาที ลดไฟลงแล้วใส่ปลาทูลงไป รอน้ำเดือดและหมั่นช้อนฟองออก ปรุงรสด้วยดอกเกลือ น้ำปลา ตัดด้วยน้ำตาลทรายเล็กน้อย ต้มต่อจนเดือด ปิดไฟ ตักใส่ชาม บีบน้ำมะนาวและพริกสดทุบ ชิมรสชาติให้เปรี้ยวนำ เค็มบาง ๆ และโรยหน้าด้วยผักชี

ควรรับประทาน “ปลาทูมหาชัย” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เนื่องจากปลาจะได้รับสารอาหารจากแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทยรูปตัว ก. เนื้อจึงมีความมัน สด รสชาติอร่อย นำไปประกอบอาหารจะมีรสชาติดี น้ำซุปที่ใสและไม่มีกลิ่นคาวปลา ให้หมั่นช้อนฟองตอนน้ำต้มยำเดือด เพิ่มความหอมของกลิ่นมะนาว ให้บีบมะนาวหลังจากต้มเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะตักเสิร์ฟ ต้มยำหากปรุงรสด้วยดอกเกลือจะทำให้อาหารรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น ดอกเกลือจะมีความเค็มน้อยกว่าเกลือ ซึ่งดอกเกลือเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ได้จากการผลิตเกลือทะเล ไม่เค็มมากเท่าไรและมีความหวานบ้างเล็กน้อยดอกเกลือที่มีความบริสุทธิ์มากๆ แหล่งนาเกลือจังหวัดสมุทรสาคร ถูกประกาศเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

Related Articles