“กมธ.ตำรวจ จัดสัมมนาหัวข้อตำรวจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน”

“กมธ.ตำรวจ จัดสัมมนาหัวข้อตำรวจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน”

“กมธ.ตำรวจ จัดสัมมนาหัวข้อตำรวจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน”

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นายทรงศักดิ์ มุสิกอง เลขานุการคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยที่ปรึกษาและเลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางไปจัดสัมมนาเรื่อง ‘ตำรวจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน’ ณ ห้องแกรนด์นรสิงห์ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายบุรินทร์ สหัสธารากุล ประธาน กต.ตร. สภ.เมืองสมุทรสาคร นายจันทร์ หวนสันเทียะ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการตำรวจ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครตำรวจ ประชาชน สื่อมวลชน และนักศึกษาเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ ทั้งหมด 3 ท่านใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. พ.ต.อ.กัมพล รัตนประทีป รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร บรรยายในหัวข้อ ‘พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562’ 2. นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บรรยายในหัวข้อ ‘ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขปัญหา’ และ 3. พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง รองผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 บรรยายในหัวข้อเรื่อง ‘แนวทางป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์’

ตลอด 6 ชั่วโมงของการสัมมนา วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งมอบความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นปัจจุบันแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกประเภทของข้อมูลส่วนบุคคล การแนะนำหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) การกำหนดโทษการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การแนะนำศูนย์ AOC (Anti Online Scam Operation Center) 1441 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาตรการต่อสู้กับกลโกงคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมออนไลน์ การค้นหาหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการจัดการพยานหลักฐาน การดำเนินคดีและหาตัวผู้กระทำผิด การทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนและผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ การทำงานของตำรวจไซเบอร์ ตลอดจนการทำความเข้าใจถึงจุดอ่อนของเหยื่อที่ประกอบด้วยความโลภ ความกลัว ความหลง และความรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้มีความรู้เข้าใจและนำไปเผยแพร่แก่บุคคลรอบตัว เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลว่า “ตั้งแต่เปิดให้บริการศูนย์ AOC 1441 ที่ให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ จำนวน 100 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 มีบริการประชาชนโทรเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 9.6 แสนสาย นับเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท โดยมีคดี 3 อันดับแรก ได้แก่ คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ ที่หมายถึงซื้อของแล้วไม่ได้ของ หรือสั่งของแท้แล้วได้ของปลอม คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ และคดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์”

ด้านนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า “คณะกรรมาธิการการตำรวจได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ปัจจุบันกลายมาเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ของสังคมไทย ไม่แพ้ปัญหายาเสพติด จึงได้จัดโครงการสัมมนาดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ทุกท่านได้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถให้ข้อมูลและความช่วยเหลือกับพี่น้องประชาชนได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีต่อไป”

Related Articles